วินัยมุข
กัณฑ์ที่ ๑
อุปสัมปทา
การบวชมี ๓ วิธีคือ
๑.เอหิภิกขุอุปสัมปทา คือวิธีที่พระองค์อนุญาติให้เป็นภิกษุด้วยพระองค์เอง
๒.ติสรณคมนูปสัมปทา คือวิธีที่อุปสมบทด้วยถึง ๓ รัตนะ ที่ทรงอนุญาตให้พระสาวกทำ
๓.ญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทา คือวิธีที่ทรงอนุญาตให้พระสงฆ์ทำด้วยการสวดญัตติ ๑ ครั้ง อนุสาวนา ๓ ครั้ง
สงฆ์ ๔ ประเภท
สงฆ์ คือภิกษุหลายรูปประชุมกันเข้าเป็นหมู่ เพื่อทำกิจอย่างใดอย่างหนึ่งมี ๔ ประเภท คือ
๑.สงฆ์มีภิกษุ ๔ รูปเป็นอย่างต่ำ เรียกว่า จตุวรรค
๒.สงฆ์มีภิกษุ ๕ รูปเป็นอย่างต่ำ เรียกว่า ปัญจวรรค
๓.สงฆ์มีภิกษุ ๑๐ รูปเป็นอย่างต่ำ เรียกว่า ทสวรรค
๔.สงฆ์มีภิกษุ ๒๐ รูปเป็นอย่างต่ำ เรียกว่า วีสติวรรค
การบวช ๒ อย่าง
ปัจจุบันการบวชมี ๒ อย่างคือ
๑.อุปสมบท คือการบวชเป็นภิกษุรักษาศีล ๒๒๗
๒.บรรพชา คือการบวชเป็นสามเณรรักษาศีล ๑๐
การอุปสมบทเป็นภิกษุนั้น ต้องพร้อมด้วยคุณสมบัติ ๕ ประการคือ
๑.วัตถุสมบัติ ๒.ปริสสมบัติ ๓.สีมาสมบัติ ๔.บุพพกิจ ๕.กรรมวาจาสมบัติ
ถ้าการอุปสมบทบกพร่องอย่างใดอย่างหนึ่ง ชื่อว่าเป็นอุปสมบทวิบัติ ๆ นี้มี ๕ อย่าง มีนัยตรงกันข้ามกับสมบัติ ๕ อย่างนั้น
กัณฑ์ที่ ๒
พระวินัย
พระวินัย คือข้อบังคับและขนบธรรมเนียม สำหรับป้องกันความเสียหายและชักจูงให้ประพฤติดีงาม พระวินัยนั้นแบ่งออกเป็น ๒ คือ
๑.พุทธบัญญัติ
๒.อภิสมาจาร
การบัญญัติพระวินัย
พระบัญญัติมี ๒ อย่างคือ
๑.มูลบัญญัติ คือข้อที่ทรงบัญญัติไว้เดิม
๒.อนุบัญญัติ คือข้อที่ทรงบัญญัติเพิ่มเติมทีหลัง
รวมมูลบัญญัติและอนุบัญญัติเข้าด้วยกันเรียกว่า สิกขาบท
อาบัติ
อาบัติ แปลว่า ความต้อง ได้แก่โทษที่เกิดเพราะละเมิดพระบัญญัตินั้น มีโทษหนักบ้างเบาบ้างตามวัตถุ อาบัตินั้นมีโทษ ๓ สถานคือ
๑.อย่างหนัก ขาดจากความเป็นภิกษุ
๒.อย่างกลาง ต้องอยู่กรรมจึงจะพ้นได้
๓.อย่างเบา ต้องประจานตนต่อหน้าภิกษุด้วยกันจึงจะพ้น
อาบัติยังมีชื่ออีก ๒ อย่างคือ อเตกิจฉา อาบัติหนักแก้ไขไม่ได้ และสเตกิจฉา อาบัติอย่างเบาและอย่างกลางพอที่จะแก้ไขได้
ชื่ออาบัติ
อาบัตินั้นมีชื่อ ๗ อย่างคือ
๑.ปาราชิก มีโทษอย่างหนัก ๒.สังฆาทิเสส มีโทษอย่างกลาง ๓.ถุลลัจจัย ๔.ปาจิตตีย์ ๕.ปาฏิเทสนียะ ๖.ทุกกฏ ๗.ทุพภาษิต
ครุกาบัติ และลหุกาบัติ
ครุกาบัติ คืออาบัติหนักแบ่งออกเป็น ๒ พวกคือ
๑.อาบัติหนักแก้ไขไม่ได้ คือปาราชิก เรียกว่า อเตกิจฉา
๒.อาบัติหนักยังพอแก้ไขได้ ได้แก่ สังฆาทิเสส เรียกว่า สเตกิจฉา
ลหุกาบัติ คืออาบัติเบา ได้แก่ ถุลลัจจัย ถึงทุพภาษิต
สมุฏฐาน
สมุฏฐาน คือทางเกิดของอาบัติโดยตรงมี ๔ ทางคือ
๑. ลำพังกาย ๒. ลำพังวาจา ๓. กายกับจิต ๔. วาจากับจิต และโดยอ้อมอีก ๒ ทางคือ ๑. กายกับวาจา ๒. กายกับวาจาเติมจิตเข้าด้วยจึงรวมเป็น ๖ ทาง
สจิตตกะ และอจิตตกะ
อาบัตินั้นจัดเป็น ๒ พวกคือ
๑.สจิตตกะ
๒.อจิตตกะ
การจะรู้ได้ว่าอาบัติเป็นสจิตตกะ หรืออจิตตกะ ต้องรู้ได้ด้วยความ และโวหารในสิกขาบทนั้น ๆ
โลกวัชชะ และปัณณัตติวิชชะ
อาบัตินั้นเมื่อต้องเข้าเป็นโทษเสียหายได้อีก ๒ ทางคือ
โลกวัชชะ คือเป็นโทษทางโลกติเตียนเช่น ฆ่ามนุษย์
ปัณณัตติวัชชะ เป็นโทษทางพระบัญญัติ เช่นขุดดิน
อาการที่ต้องอาบัติ ๖ อย่าง
๑ ต้องด้วยไม่ละอาย ๒ ต้องด้วยไม่รู้ ๓ ต้องด้วยสงสัยแล้วขืนทำลง ๔ ต้องด้วยสำคัญว่าควรในของที่ไม่ควร ๕ ต้องด้วยสำคัญว่าไม่ควรในของที่ควร ๖ ต้องด้วยลืมสติ
กัณฑ์ที่ ๓
สิกขาบท
พระบัญญัติมาตราหนึ่ง ๆ เป็นสิกขาบทอันหนึ่ง ๆ พระองค์ทรงบัญญัติไว้เป็น ๒ หมวดคือ
๑.อาทิพรหมจาริยสิกขา
๒.อภิสมาจาริยสิกขา
อาทิพรหมจาริยสิกขานั้น มาในพระปาฏิโมกข์ อนุญาตให้สวดในที่ประชุมสงฆ์ทุกกึ่งเดือน
สิกขาบทที่มาในพระปาฏิโมกข์เดิมมี ๑๕๐ คือ ปาราชิก ๔ สังฆาทิเสส ๑๓ นิสสัคคียปาจิตตีย์ ๓๐ ปาจิตตีย์ ๙๒ ปาฏิเทสนียะ ๔ อธิกรณสมถะ ๗ รวมเป็น ๑๕๐ ถ้วน แต่เพิ่มอนิยต ๒ และเสขิยวัตร ๗๕ เข้าอีกจึงรวมเป็น ๒๒๗
สิกขาบทที่มาในพระปาฏิโมกข์นั้น จัดเข้าเป็นพวกแห่งอาบัติชนิดหนึ่ง ๆ เรียกว่า อุทเทส ๆ นั้นมี ๙ คือ
๑.นิทานุทเทส ๒.ปาราชิกุทเทส ๓.สังฆาทิเสสุทเทส ๔.อนิยตุทเทส ๕.นิสสัคคียุทเทส ๖.ปาจิตตียุทเทส ๗.ปาฏิเทสนียุทเทส ๘.เสขิยยุทเทส ๙.อธิกรณสมถุทเทส
กัณฑ์ที่ ๔
ปาราชิก ๔
ปาราชิก เป็นชื่อของอาบัติหนัก แปลว่า ทำผู้ต้องให้พ่าย คือผู้ที่ต้องเข้าแล้วต้องขาดจากความเป็นภิกษุ แม้ผู้นั้นจะลาสิกขาไปเป็นคฤหัสถ์แล้ว จะกลับมาอุปสมบทใหม่ก็ไม่เป็นภิกษุภาวะในพุทธศาสนาได้อีก
๑.ภิกษุเสพเมถุน ต้องปาราชิก
๒.ภิกษุถือเอาของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ได้ราคา ๕ มาสก ต้องปาราชิก
๓.ภิกษุแกล้งฆ่ามนุษย์ให้ตาย ต้องปาราชิก
๔.ภิกษุอวดอุตตริมนุสสธรรม (คือธรรมอันยิ่งของมนุษย์) ที่ไม่มีในตน ต้องปาราชิก
กัณฑ์ที่ ๕
สังฆาทิเสส ๑๓
สังฆาทิเสสนั้น แปลว่า ความละเมิดที่มีสงฆ์ในกรรมเบื้องต้นและกรรมที่เหลือ (เกี่ยวข้องกับสงฆ์ตลอด) มี ๑๓ สิกขาบท มี ๒ ตอนคือ
ตอนแรก ภิกษุประพฤติล่วงเข้าแล้วก็ต้องอาบัติหนักทันทีเมื่อทำเสร็จ เรียกว่า ปฐมาปัตติกา
ตอนสอง ภิกษุประพฤติแล้วยังไม่ต้องอาบัติก่อน ต่อเมื่อสงฆ์สวดประกาศสมนุภาสครบ ๓ ครั้งแล้วจึงจะต้อง เรียกว่า ยาวตติยกา
การออกจากอาบัติ อาบัติสังฆาทิเสสนี้ ภิกษุต้องเข้าแล้วต้องบอกกับสงฆ์ก่อน เมื่อไม่บอกปกปิดไว้นานวันเท่าไร ต้องอยู่ปริวาสนานวันเท่านั้นก่อน จึงขอมานัติได้ มานัตินี้ต้องอยู่ครบ ๖ ราตรีก่อน ถ้าในระหว่างประพฤติวัตต์นี้มีภิกษุอื่นมา ต้องบอกวัตต์เพื่อเป็นการประจานตัวเอง เมื่ออยู่ครบแล้วจึงขออัพภานต่อสงฆ์ วีสติวรรค คือ ๒๐ รูปขึ้นไป เมื่อสงฆ์สวดอัพภานแล้ว ภิกษุนั้นจึงจะกลับเป็นผู้บริสุทธิ์ตามเดิม
๑.ภิกษุแกล้งทำให้น้ำอสุจิเคลื่อน ต้องสังฆาทิเสส
๒.ภิกษุมีความกำหนัดอยู่ จับต้องกายหญิง ต้องสังฆาทิเสส
๓.ภิกษุมีความกำหนัดอยู่ พูดเกี้ยวหญิง ต้องสังฆาทิเสส
๔.ภิกษุมีความกำหนัดอยู่ พูดล่อให้หญิงบำเรอตนด้วยกาม ต้องสังฆาทิเสส
๕.ภิกษุชักสื่อให้ชายหญิงเป็นผัวเมียกัน ต้องสังฆาทิเสส
๖.ภิกษุสร้างกุฎีที่ต้องก่อและโบกด้วยปูนหรือดิน ซึ่งไม่มีใครเป็นเจ้าของ จำเพาะเป็นที่อยู่ของตน ต้องทำให้ได้ประมาณ โดยยาวเพียง ๑๒ คืบพระสุคต โดยกว้างเพียง ๗ คืบ วัดในร่วมใน และต้องให้สงฆ์แสดงที่ให้ก่อน ถ้าไม่ให้สงฆ์แสดงที่ให้ก็ดี ทำให้เกินประมาณก็ดี ต้องสังฆาทิเสส
๗.ถ้าที่อยู่ซึ่งจะสร้างขึ้นนั้น มีทายกเป็นเจ้าของ ทำให้เกินประมาณนั้นได้ แต่ต้องให้สงฆ์แสดงที่ให้ก่อน ถ้าไม่ให้สงฆ์แสดงที่ให้ก่อน ต้องสังฆาทิเสส
๘.ภิกษุโกรธเคือง แกล้งโจทภิกษุอื่นด้วยอาบัติปาราชิกไม่มีมูล ต้องสังฆาทิเสส
๙.ภิกษุโกรธเคือง แกล้งหาเลศโจทภิกษุอื่นด้วยอาบัติปาราชิก ต้องสังฆาทิเสส
๑๐.ภิกษุพากเพียรเพื่อจะทำลายสงฆ์ให้แตกกัน ภิกษุอื่นห้ามไม่ฟัง สงฆ์สวดกรรมเพื่อจะให้ละข้อที่ประพฤตินั้น ถ้าไม่ละ ต้องสังฆาทิเสส
๑๑.ภิกษุประพฤติตามผู้ทำลายสงฆ์นั้น ภิกษุอื่นห้ามไม่ฟัง สงฆ์สวดกรรมเพื่อจะให้ละข้อที่ประพฤตินั้น ถ้าไม่ละ ต้องสังฆาทิเสส
๑๒.ภิกษุว่ายากสอนยาก ภิกษุอื่นห้ามไม่ฟัง สงฆ์สวดกรรมเพื่อจะให้ละข้อที่ประพฤตินั้น ถ้าไม่ละ ต้องสังฆาทิเสส
๑๓.ภิกษุประทุษร้ายตระกูลคือประจบคฤหัสถ์ สงฆ์ไล่เสียจากวัด กลับว่าติเตียนสงฆ์ ภิกษุอื่นห้ามไม่ฟัง สงฆ์สวดกรรมเพื่อจะให้ละข้อที่ประพฤตินั้น ถ้าไม่ละ ต้องสังฆาทิเสส
อนิยต ๒
อนิยต แปลว่าไม่แน่คือวางอาบัติไว้ไม่แน่นอน ว่าจะปรับอาบัติอะไร เป็นข้อยึดถือไว้เป็นแบบพิจารณา คือต้องถือเอาตามคำของพยาน หรือของภิกษุผู้ล่วงละเมิดในอาบัติข้อนั้น ๆ ถ้ามีพยานอื่นเป็นหลักฐานแม้ภิกษุจะปฏิเสธก็ปรับอาบัติได้
๑.ภิกษุนั่งในที่ลับตากับหญิงสองต่อสอง ถ้ามีคนที่ควรเชื่อถือได้มาพูดขึ้นด้วยธรรม ๓ อย่าง คือ ปาราชิก หรือสังฆาทิเสส หรือปาจิตตีย์ อย่างใดอย่างหนึ่ง ภิกษุรับอย่างใดให้ปรับอย่างนั้น หรือเขาว่าจำเพาะธรรมอย่างใด ให้ปรับอย่างนั้น
๒.ภิกษุนั่งในที่ลับหูกับหญิงสองต่อสอง ถ้ามีคนที่ควรเชื่อถือได้มาพูดขึ้นด้วยธรรม ๒ อย่าง คือ สังฆาทิเสส หรือปาจิตตีย์ อย่างใดอย่างหนึ่ง ภิกษุรับอย่างใดให้ปรับอย่างนั้น หรือเขาว่าจำเพาะธรรมอย่างใด ให้ปรับอย่างนั้น
นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ แบ่งเป็นวรรค ๓ วรรค มีวรรคละ ๑๐ สิกขาบท
นิสสัคคิยปาจิตตีย์ คือของที่จะต้องสละ ได้แก่ ต้องเสียสละของนั้นเสียก่อนจึงแสดงอาบัติตกมีทั้งหมด ๓๐ สิกขาบท จัดเป็นวรรค ๆ ละ ๑๐ สิกขาบทดังมีรายละเอียดต่อไป
จีวรวรรคที่ ๑
๑.ภิกษุทรงอติเรกจีวรได้เพียง ๑๐ วันเป็นอย่างยิ่ง ถ้าล่วง ๑๐ วันไป ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์
๒.ภิกษุอยู่ปราศจากไตรจีวรแม้คืนหนึ่ง ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่ได้สมมติ
๓.ถ้าผ้าเกิดขึ้นแก่ภิกษุ ๆ ประสงค์จะทำจีวร แต่ยังไม่พอ ถ้ามีที่หวังว่าจะได้มาอีก พึงเก็บผ้านั้นไว้ได้เพียงเดือนหนึ่งเป็นอย่างยิ่ง ถ้าเก็บไว้ให้เกินเดือนหนึ่งไป แม้ถึงยังมีที่หวังว่าจะได้อยู่ ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์
๔.ภิกษุให้นางภิกษุณีที่ไม่ใช่ญาติ ให้ซักก็ดี ให้ย้อมก็ดี ให้ทุบก็ดี ซึ่งจีวรเก่า ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์
๕.ภิกษุรับจีวรแต่มือนางภิกษุณีที่ไม่ใช่ญาติ เว้นไว้แต่แลกเปลี่ยนกัน ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์
๖.ภิกษุขอจีวรต่อคฤหัสถ์ผู้ไม่ใช่ญาติไม่ใช่ปวารณา ได้มา ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่มีสมัยที่จะขอจีวรได้ คือ เวลาภิกษุมีจีวรอันโจรลักไป หรือมีจีวรอันฉิบหายเสีย
๗.ในสมัยเช่นนั้น จะขอเขาได้เพียงผ้านุ่งผ้าห่มเท่านั้น ถ้าขอเกินกว่านั้น ได้มา ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์
๘.ถ้าคฤหัสถ์ที่ไม่ใช้ญาติไม่ใช่ปวารณา เขาพูดว่า เขาจะถวายจีวรแก่ภิกษุชื่อนี้ ภิกษุนั้นทราบความแล้ว เข้าไปพูดให้เขาถวายจีวรอย่างนั้นอย่างนี้ ที่มีราคาแพงกว่าดีกว่าที่เขากำหนดไว้เดิม ได้มา ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์
๙.ถ้าคฤหัสถ์ผู้จะถวายจีวรแก่ภิกษุมีหลายคน แต่เขาไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่ปวารณา ภิกษุไปพูดให้เขารวมทุนเข้าเป็นอันเดียวกัน ให้ซื้อจีวรที่แพงกว่าดีกว่าที่เขากำหนดไว้เดิม ได้มา ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์
๑๐.ถ้าใคร ๆ นำทรัพย์มาเพื่อค่าจีวรแล้วถามภิกษุว่า ใครเป็นไวยาวัจกรของเธอ ถ้าภิกษุต้องการจีวร ก็พึงแสดงคนวัดหรืออุบาสกว่า ผู้นี้เป็นไวยาวัจกรของภิกษุทั้งหลาย ครั้นเขามอบหมายไวยาวัจกรนั้นแล้ว สั่งภิกษุว่า ถ้าต้องการจีวร ให้เข้าไปหาไวยาวัจกร ภิกษุนั้นพึงเข้าไปหาเขาแล้วทวงว่า เราต้องการจีวร ดังนี้ได้ ๓ ครั้ง ถ้าไม่ได้จีวร ไปยืนแต่พอเขาเห็นได้ ๖ ครั้ง ถ้าไม่ได้ขืนไปทวงให้เกิน ๓ ครั้ง ยืนเกินกว่า ๖ ครั้ง ได้มา ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ถ้าไปทวงและยืนครบกำหนดแล้วไม่ได้จีวร จำเป็นต้องไปบอกเจ้าของเดิมว่า ของนั้นไม่สำเร็จประโยชน์แก่ตน ให้เขาเรียกเอาของเขาคืนมาเสีย
โกสิยวรรคที่ ๒
๑.ภิกษุหล่อสันถัตด้วยขนเจียมเจือไหม ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์
๒.ภิกษุหล่อสันถัตด้วยขนเจียมดำล้วน ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์
๓.ภิกษุจะหล่อสันถัตใหม่ พึงใช้ขนเจียมดำ ๒ ส่วน ขนเจียมขาวส่วนหนึ่ง ขนเจียมแดงส่วนหนึ่ง ถ้าใช้ขนเจียมดำเกิน ๒ ส่วนขึ้นไป ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์
๔.ภิกษุหล่อสันถัตใหม่แล้ว พึงใช้ให้ได้ ๖ ปี ถ้ายังไม่ถึง ๖ ปีหล่อใหม่ ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์
๕.ภิกษุจะหล่อสันถัต พึงตัดเอาสันถัตเก่าคืบหนึ่งโดยรอบมาปนลงในสันถัตที่หล่อใหม่ เพื่อจะทำลายให้เสียสี ถ้าไม่ทำดังนี้ ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์
๖.เมื่อภิกษุเดินทางไกล ถ้ามีใครถวายขนเจียม ต้องการก็รับได้ ถ้าไม่มีใครนำมา นำมาเองได้เพียง ๓ โยชน์ ถ้าให้เกิน ๓ โยชน์ไป ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์
๗.ภิกษุใช้นางภิกษุณีที่ไม่ใช่ญาติ ให้ซักก็ดี ให้ย้อมก็ดี ให้สางก็ดี ซึ่งขนเจียม ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์
๘.ภิกษุรับเองก็ดี ใช้ให้ผู้อื่นรับก็ดี ซึ่งทองและเงิน หรือยินดีในทองและเงินที่เขาเก็บไว้เพื่อตน ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์
๙.ภิกษุทำการซื้อขายด้วยรูปิยะ คือของที่เขาใช้เป็นทองและเงิน ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์
๑๐.ภิกษุแลกเปลี่ยนสิ่งของกับคฤหัสถ์ ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์
ปัตตวรรคที่ ๓
๑.บาตรนอกจากบาตรอธิษฐานเรียกอติเรกบาตร อติเรกบาตรนั้น ภิกษุเก็บไว้ได้เพียง ๑๐ วันเป็นอย่างยิ่ง ถ้าให้ล่วง ๑๐ วันไป ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์
๒.ภิกษุมีบาตรร้าวยังไม่ถึง ๑๐ นิ้ว ขอบาตรใหม่แต่คฤหัสถ์ที่ไม่ใช่ญาติไม่ใช่ปวารณา ได้มา ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์
๓.ภิกษุรับประเคนเภสัชทั้ง ๕ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย แล้วเก็บไว้ฉันได้เพียง ๗ วันเป็นอย่างยิ่ง ถ้าให้ล่วง ๗ วันไป ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์
๔.เมื่อฤดูร้อนยังเหลืออยู่อีกเดือนหนึ่ง คือตั้งแต่แรมค่ำหนึ่งเดือน ๗ จึงแสวงหาผ้าอาบน้ำฝนได้ เมื่อฤดูร้อนเหลืออยู่อีกกึ่งเดือน คือตั้งแต่ขึ้นค่ำหนึ่งเดือน ๘ จึงทำนุ่งได้ ถ้าแสวงหาหรือทำนุ่งให้ล้ำกว่ากำหนดนั้นเข้ามา ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์
๕.ภิกษุให้จีวรแก่ภิกษุอื่นแล้ว โกรธ ชิงเอาคืนมาเองก็ดี ใช้ให้ผู้อื่นชิงเอามาก็ดี ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์
๖.ภิกษุขอด้ายแต่คฤหัสถ์ที่ไม่ใช่ญาติไม่ใช่ปวารณา เอามาให้ช่างหูกทอเป็นจีวร ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์
๗.ถ้าคฤหัสถ์ที่ไม่ใช่ญาติไม่ใช่ปวารณา สั่งให้ช่างหูกทอจีวรเพื่อจะถวายแก่ภิกษุ ถ้าภิกษุไปกำหนดให้เขาทำให้ดีขึ้นด้วยจะให้รางวัลแก่เขา ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์
๘.ถ้าอีก ๑๐ วันจะถึงวันปวารณา คือตั้งแต่ขึ้น ๖ ค่ำเดือน ๑๑ ถ้าทายกรีบจะถวายผ้าจำนำพรรษา ก็รับเก็บไว้ได้ แต่ถ้าเก็บไว้เกินกาลจีวรไป ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์ กาลจีวรนั้นดังนี้ ถ้าจำพรรษาแล้วไม่ได้กรานกฐิน นับแต่วันปวารณาไปเดือนหนึ่ง คือตั้งแต่แรมค่ำหนึ่งเดือน ๑๑ ถึงกลางเดือน ๑๒ ถ้าได้กรานกฐินนับแต่วันปวารณาไป ๕ เดือน คือตั้งแต่แรมค่ำหนึ่งเดือน ๑๑ ถึงกลางเดือน ๔
๙.ภิกษุจำพรรษาในเสนาสนะป่าซึ่งเป็นที่เปลี่ยว ออกพรรษาแล้ว อยากจะเก็บไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่งไว้ในบ้าน เมื่อมีเหตุก็เก็บไว้ได้เพียง ๖ คืนเป็นอย่างยิ่ง ถ้าเก็บไว้ให้เกิน ๖ คืนไป ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่ได้สมมติ
๑๐.ภิกษุรู้อยู่ น้อมลาภที่เขาจะถวายสงฆ์มาเพื่อตน ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์
26 July 2018