ประวัติความเป็นมา ประเพณีลอยแพของพุทธบริษัทวัดบางคลี
งานประเพณีลอยแพ เป็นประเพณีที่ชาวบ้าน ๔ หมู่บ้าน คือ บ้านบางคลี บ้านนาแฝก บ้านบ่อดาน และบ้านควน กระทำและปฏิบัติกันมาช้านาน แต่จะนานแค่ไหน ไม่มีใครทราบข้อมูลที่แน่ชัดได้
ข้อสำคัญ เรื่องประเพณีลอยแพนี้ ผู้ให้ข้อมูลบอกว่าไม่ได้นั่งเทียน หรือยกเมฆเอา เพราะในสมัยที่ผู้ให้ข้อมูลยังเป็นวัยรุ่น ก็ได้ซอกแซกถามคนเฒ่าคนเก่าคนแก่ ถึงเรื่องประเพณีลอยแพ ท่านเหล่านั้นก็ตอบและวินิจฉัยไปหลายแง่หลายมุม ผู้ให้ข้อมูลอธิบายว่า ให้ข้อมูลตามความคิดเห็นของคนรุ่นก่อน ซึ่งประเพณีลอยแพมีการเปลี่ยนแปลงมาแล้วหลายครั้ง ดังนี้
ครั้งแรก คงจะมีชาวบ้านใน ๔ หมู่บ้านนี้แหละที่ได้ฟัง รับการบอกเล่าจากบุคคลผู้รู้ เกี่ยวกับประเพณีของลัทธิฮินดู ในเรื่องการลอยบาป ในแม่น้ำคงคาประเทศอินเดีย ซึ่งในเมื่อพวกฮินดูสามารถลอยบาปของตนไปกับน้ำได้ ชาวบ้านก็คิดว่าคงจะลอยเคราะห์ ลางร้าย โชคร้าย เคราะห์กรรม และสิ่งอัปมงคลทั้งหลายได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น ชาวบ้านมองเห็นว่า การที่มีโรคภัยไข้เจ็บ โรคระบาด แม้แต่การตายของผู้ที่มีวัยอันไม่สมควร คนสมัยก่อนก็โยนให้เป็นเรื่องของการบันดาลของบาปกรรม เคราะห์ และลางร้าย
ดังนั้นทางที่ดีและมีอยู่ทางเดียวนั้นคือ จะต้องเอาบาป เคราะห์ สิ่งที่เป็นอัปมงคลไปลงในทะเลเหมือนอย่างพราหมณ์ลอยบาป ชาวบ้านที่มีความรู้และช่างคิดก็บอกให้คนทั้งหลายพาของที่ไม่ดีไปลอยแพเสีย สิ่งไม่ดีทั้งหลายก็จะได้หมดไป และมีผู้รู้ให้ความเห็นว่า บาป เคราะห์ สิ่งอัปมงคลเหล่านั้น มีอยู่ที่ร่างกายมนุษย์ พร้อมทั้งสิ่งที่มนุษย์ใช้ติดตัวอยู่
ฉะนั้น เมื่อชาวบ้านมองเห็นภาพเช่นนั้นแล้วว่า การลอยบาป เคราะห์ สิ่งชั่วร้ายต่าง ๆ ก็จะต้องเอาเล็บมือ เล็บเท้า ผมและเศษผ้าบางส่วนของเครื่องนุ่งห่มไปใส่แพแล้วลอย พร้อมด้วยดอกไม้ ธูป เทียน เพื่อจุดไฟอธิษฐาน โดยให้สิ่งชั่วร้ายทั้งปวงในตัวเราลอยไปกับแพ สมัยก่อนเขาเรียกว่า วาดเคราะห์ หรือ กวาดเคราะห์ แรกเริ่มเดิมที ที่มีการลอยแพนั้น เขาไม่ทำพิธีเกี่ยวกับศาสนา ไม่มีพิธีสงฆ์ ชาวบ้านทำกันเอง เป็นพิธีในเชิงไสยศาสตร์
ยุคที่ ๒ ประชาชนทั้งหลายเริ่มมาคิดกันว่า การทำพิธีทั้งหมดในเรื่องลอยแพเป็นการกระทำที่เป็นไสยศาสตร์ทั้งหมด เราเป็นชาวพุทธนับถือคุณพระศรีรัตนตรัย การกระทำเช่นเมื่อก่อนย่อมเป็นการไม่ถูกต้อง ดังนั้น จึงได้ดึงเอาศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยได้ไปขอคำปรึกษาจากพระที่วัดว่า เมื่อถึงวันลอยแพสะเดาะเคราะห์ขอนิมนต์พระสงฆ์ไปทำพิธีด้วย
การสวด หรือ การเจริญพระพุทธมนต์นั้น ชาวบ้านได้จัดขึ้นในยุคกลาง ระหว่างยุคแรก กับ ยุคที่สอง เขาจะทำกันที่กลางหมู่บ้าน คือ หมู่บ้านบางคลี โดยชาวบ้านจะกำหนดเอาพื้นที่แห่งหนึ่งเป็นจุดศูนย์กลางสำหรับทำพิธีสวด ซึ่งเรียกกันว่า สวดกลางบ้าน โดยชาวบ้านได้นำสิ่งของต่าง ๆ เช่น ผม เล็บ เศษเสื้อผ้า ดอกไม้ ธูป เทียน พร้อมอาหารแห้งต่าง ๆ นำมาไว้พร้อมเพรียงกันที่พิธีสวด ตอนกลางคืนนิมนต์พระมาเจริญพระพุทธมนต์ พอถึงตอนเช้าก็นำของเหล่านั้นไปไว้ที่ริมถนนใหญ่ เพื่อให้สิ่งชั่วร้ายทั้งหลายเดินทางไปตามถนน และสูญหายไปในที่สุด การกระทำเช่นนี้เขาเรียกว่า ดับหาบดับคอน เป็นประเพณีที่ได้กระทำกันมาช้านานเหมือนกัน ซึ่งตอนหลังได้เลิกล้มไป จะด้วยเหตุใดก็ทราบไม่ได้
ยุคหลังสุด ในเมื่อไม่มีการสวดกลางบ้าน ไม่มีการดับหาบดับคอน ก็เอาพิธีสวดกลางบ้านมาเป็นพิธีการสวดแพ แต่ไม่ใช่ว่าจะทำทันทีทันใด คือ เว้นระยะนานหลายปีอยู่เหมือนกัน
สรุปความว่า ประเพณีลอยแพของชุมชน ๔ หมู่บ้านนั้น เป็นประเพณีที่ดี สมควรแก่การรักษาและเป็นที่เชิดหน้าชูตาของชุมชน มีการร่วมใจ ร่วมกำลังทั้งฝ่ายสงฆ์และฝ่ายฆราวาส ให้ดำเนินไปด้วยดีเสมอมา ดังพุทธดำรัสที่ว่า
สพฺเพสํ สงฺฆภูตานํ สามคฺคี วุฑฺฒิสาธิกา
สังคมที่มีความสามัคคีพร้อมเพรียงกัน ทำให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง
ประเพณีต่าง ๆ ทำให้คนมีความรัก ความสามัคคีขึ้นในชุมชน
การกำหนดในวันที่ทำการลอยแพ ซึ่งชาวบ้านทั้ง ๔ หมู่บ้านจะทำการนัดหมายที่วัดในวันพระแรมสิบสี่ค่ำ เดือน ๑๑ เพราะวันพระชาวบ้านทั้งสี่หมู่บ้านจะมารวมกันที่วัดอยู่แล้ว สาเหตุที่มีการนัดหมายกันในวันพระนั้นเนื่องด้วยในครั้งอดีตเมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา ไม่มีเครื่องมือสื่อสารเหมือนอย่างเช่นปัจจุบันนี้ และอีกอย่างในครั้งกระโน้น พี่น้องเราชาวบ้านเราอยู่ตามท้องไร่ ท้องนา และอีกอย่างชาวบ้านได้เตรียมอาหาร เช่นพืช ผัก ผลไม้ ไม่สะดวกเหมือนอย่างทุกวันนี้ และที่สำคัญ คนในอดีตเขาไม่ค่อยฆ่าสัตว์สำหรับทำอาหารไปถวายพระ เขาว่ากันว่าบุญที่ทำในวันพระนั้น จะตกไปเป็นของสัตว์ที่ถูกฆ่าในวันนั้น จะจริงเท็จแค่ไหน โปรดใช้วิจารณญาณ
เมื่อตกลงว่าจะลอยวันไหนแน่ ก็มีการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบ เช่น ชาวบ้านบ่อดาน รับผิดชอบในเรื่องเลี้ยงภัตตาหารพระภิกษุมื้อเช้า เนื่องด้วยพระต้องไปจำวัดค้างคืนที่ชายทะเล ในอดีตพระต้องเดินไป และหนทางก็ลำบาก ไม่เหมือนปัจจุบันการเดินทางไปมาสะดวก ส่วนชาวบ้าน บ้านบางคลี บางส่วนจะนำเอาอาหารไปสมทบกับชาวบ้านบ่อดานในตอนเช้าของวันที่จะทำการลอยแพ การลอยแพจะทำพิธีลอยแพเวลาประมาณบ่ายโมงเศษ หลังจากที่พระฉันภัตตาหารเพล และชาวบ้านกินข้าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว นั่งพักผ่อนให้ข้าวลงพุง (ข้าวลงพุง เป็นภาษาถิ่น แปลว่า เพื่อให้อาหารได้ย่อย)
สำหรับชาวบ้าน บ้านนาแฝก มีการจัดการเรื่องไม่ไผ่ พร้อมเชือก เพื่อผูกมักไม้ไผ่ให้เป็นแพ เพื่อบรรทุกสิ่งของต่าง ๆ เช่นการเจ็บไข้ได้ป่วยไปกับแพ ตามความเชื่อของคนในอดีตมาจนถึงปัจจุบัน
ส่วนในวันที่ทำการลอยแพ ชาวบ้านทั้งสี่หมู่บ้าน จะนำข้าปลาอาหาร ทั้งของหวานของคาว ไปเลี้ยงพระ เมื่อพระฉันภัตตาหารเสร็จเรียบร้อย ชาวบ้านก็จะนำอาหารส่วนที่เหลือมารับประทานร่วมกัน
การลอยแพของพี่น้องหรือชาวบ้านทั้งสี่หมู่บ้าน คือบ้านบางคลี บ้านนาแฝก บ้านบ่อดาน และบ้านควน ร่วมกับวัดนิคมสโมสร(บางคลี) เนื่องจากวัดกับหมู่บ้านแยกออกจากกันไม่ได้ จะต้องอยู่เคียงคู่กันตลอดไป เช่นเดียวกับประเพณีลอยแพจะต้องเป็นประเพณีของชาวบ้านทั้งสี่หมู่บ้านร่วมกับวัดนิคมสโมสรตลอดไปตราบนานเท่านาน
ขอบคุณข้อมูลจาก. นายพงษ์พันธ์ อินทรสุวรรณ, นายเฉลี่ยว(ฉุ้น) ลี้ลับ
7 August 2018