กรรม

กรรม แปลว่า การกระทำ ซึ่งเป็นเสมือนการกล่าวถึงพฤติกรรมในการแสดงออกทางกาย วาจา และใจ

กรรม

     กรรม แปลว่า การกระทำ ซึ่งเป็นเสมือนการกล่าวถึงพฤติกรรมในการแสดงออกทางกาย วาจา และใจ ที่ส่งผลต่อสิ่งที่ทุกชีวิตจะต้องได้รับจากผลการกระทำนั้น ๆ ไม่ว่าจะเคยประพฤติปฏิบัติมาในอดีตหรือในปัจจุบันก็ตาม ทั้งนี้กฎแห่งกรรมหรือกฎแห่งการกระทำนี้จะนำพาไปสู่เหตุและปัจจัยทั้งด้านดีและไม่ดี หรือไม่ส่งผลใด ๆ ย่อมขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของเหตุและผลในปัจจัยที่เกี่ยวข้องจากผลการกระทำนั้น ๆ ดังนั้น เรื่องกรรมจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งที่ทุกคนควรรับรู้และตระหนักในผลของการกระทำของตนเอง เพราะไม่ว่าจะหลีกหนีหรือปฏิเสธเพียงใดก็ไม่สามารถฝืนกฎธรรมชาติอันยุติธรรมข้อนี้ได้ ดังพุทธพจน์ที่ว่า “กมฺมุนา วตฺตติโลโก” หมายถึง สัตว์โลกทั้งหลายย่อมเป็นไปตามกรรม “อุทฺเทส กมฺมปจฺจโย” หมายถึง เพราะมีเจตนาตั้งใจเป็นปัจจัย จึงก่อให้เกิดกรรมต่าง ๆ หรือที่พระผู้พระภาคเจ้าได้ตรัสกับภิกษุสาวกว่า “เจตนาหัง ภิกขเว กัมมัง วทามิ” หมายถึง ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า เจตนาเป็นกรรม    

     ในทางพระพุทธศาสนานั้น จึงเน้นสอนโดยถือการกระทำเป็นใหญ่  ซึ่งผิดกับศาสนาหรือความเชื่ออื่น ๆ ที่เข้าใจว่า ทุกสิ่งเกิดขึ้นด้วยการบันดาลผลของเทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ นอกจากนี้ในทางคำสอนทางพุทธศาสนายังเน้นย้ำว่า “กรรม” นั้นส่งผลโดยตรงต่อการรองรับผลของกรรมในทุกกรณีโดยจำเป็นต้องมีเจตนาต้นสายปลายเหตุและมีผลของการกระทำนั้นในทางที่ดีหรือไม่ดี (บุญหรือบาป) ในเรื่องวิบากกรรมเสมอ ฉะนั้นบุคคลจะได้ดีหรือชั่ว ได้รับสุขหรือทุกข์ ก็เพราะกรรม หรือการกระทำของตนเองทั้งสิ้น หากเราไม่ดำเนินทางตามที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ แม้จะสวดมนต์หรือวิงวอนขอร้องต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพียงใด ก็ไม่อาจจะช่วยให้เราพบความดีและความสุขได้ เพราะหากทุกคนมีความภักดีและวิงวอนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้วได้สมใจปรารถนาเสมอ มนุษย์เราทุกวันนี้ก็คงไม่ต้องทำอะไรอีกเพื่อให้ชีวิตตัวเองเป็นไปดังหวัง

สำหรับคำสอนในพระพุทธศาสนา ชาวพุทธควรมีศรัทธา ๔ อย่าง คือ

๑. ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า คือ เชื่อว่าพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้จริง เป็นผู้ประกอบด้วยพระปัญญาธิคุณ พระวิสุทธิคณ และพระมหากรุณาธิคุณ
๒. กัมมสัทธา เชื่อเรื่องกรรม คือ เชื่อว่ากรรมมีจริง
๓. วิปากสัทธา เชื่อเรื่องผลของกรรม คือ เชื่อว่ากรรมที่บุคคลทำไว้ไม่ว่าดีหรือชั่วย่อมให้ผลเสมอ
๔. กัมมัสสกตาสัทธา เชื่อว่าสัตว์มีกรรมเป็นของตน คือ เชื่อว่าผลที่เราได้รับเป็นผลแห่งการกระทำของเราเอง ซึ่งอาจจะเป็นกรรมที่ทำในปัจจุบันชาติหรืออดีตชาติ 

     ซึ่งจะสังเกตได้ว่าความเชื่อหรือศรัทธา ๔ อย่าง เป็นความเชื่อในเรื่องเกี่ยวกับกรรม กฎแห่งกรรมจึงเป็นคำสอนที่สำคัญในพระพุทธศาสนา ผู้เป็นชาวพุทธทุกคนจึงควรเชื่อในเรื่องกฎแห่งกรรมและควรพยายาม  ศึกษาและทำความเข้าใจเรื่องกฎแห่งกรรม ชาวพุทธที่ไม่เชื่อกฎแห่งกรรมจึงหาใช่ชาวพุทธที่แท้จริงไม่ เขาเป็นเพียงชาวพุทธแต่เพียงในนาม คนที่เชื่อในเรื่องกรรม ย่อมได้เปรียบกว่าคนที่ไม่เชื่อ คนที่เชื่อเรื่องกรรมย่อมสามารถอดทนรับความทุกข์ยากลำบาก ความผิดหวัง ความขมขื่น และเคราะห์กรรมร้ายที่เกิดแก่ตนได้ เพราะถือว่าเป็นกรรมที่ทำมาแต่อดีต ไม่ตีโพยตีพายว่าโลกนี้ไม่มีความยุติธรรม ตนไม่ได้รับความเป็นธรรม ทำดีแล้วไม่ได้ดี คนที่เชื่อในเรื่องกรรมจะยึดมั่นอยู่ในการทำความดีต่อไป จะเป็นผู้สามารถให้อภัยแก่ผู้อื่นและเป็นผู้มีหิริโอตตัปปะ

     สำหรับลักษณะสำคัญของผลแห่งกรรมนี้ ขออธิบายได้เพิ่มเติมว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน กรรมนั้นย่อมเป็นของเราโดยเฉพาะ และเราจะเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น จะโอนให้ผู้อื่นไม่ได้ เช่น เราทำกรรมชั่วอย่างหนึ่ง เราจะต้องรับผลของกรรมชั่วนั้น จะลบล้างหรือโอนไปให้ผู้อื่นไม่ได้ แม้ผู้นั้นจะยินดีรับโอนกรรมชั่วของเราก็ตาม กรรมดีก็เช่นเดียวกัน ผู้ใดทำกรรมดีผลกรรมดีย่อมเป็นของผู้ทำโดยเฉพาะ จะจ้างหรือวานให้ทำแทนกันหาได้ไม่ เช่น เราจะเอาเงินจ้างผู้อื่นให้ประกอบกรรมดี แล้วขอให้โอนกรรมดีที่ผู้นั้นทำมาให้แก่เราย่อมไม่ได้ หากเราต้องการกรรมดีเป็นของเรา เราก็ต้องประกอบกรรมดีเอง เหมือนกับการรับประทานอาหาร ผู้ใดรับประทานผู้นั้นก็เป็นผู้อิ่ม มนุษย์เราจึงมีภาวะความเป็นไปต่าง ๆ กันในชีวิตด้วยลักษณะกรรมที่ทำมา เช่น ดีหรือชั่ว รวยหรือจน เจริญหรือเสื่อม สุขหรือทุกข์ เป็นต้น ก็เนื่องจากกรรมของตนเองทั้งสิ้น และกรรมใดที่ทำลงไปจะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม ย่อมให้ผลตอบแทนเสมอ และย่อมติดตามผู้ทำเสมือนเงาติดตามตน หรือ เปรียบเสมือนล้อเกวียนที่หมุนตามรอยเท้าโคไปฉะนั้น ด้วยเหตุนี้ มนุษย์จึงมีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย หากเราทำกรรมดีเราก็ได้รับความสุขความเจริญ กรรมดีจึงเหมือนกัลยาณมิตรที่คอยให้ความอุปการะ และส่งเสริมให้เราประสบแต่ความสุขและความเจริญ แต่ถ้าเราทำกรรมชั่ว กรรมชั่วก็คอยล้างผลาญเราให้ประสบแต่ความทุกข์และความเสื่อมเช่นกัน  

     การกระทำที่ไม่ประกอบด้วยเจตนาย่อมไม่ถือว่าเป็น “กรรม” กรรมแท้จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ ๒ ประการ คือ ผู้ทำมีเจตนา และการกระทำนั้นจะต้องให้ผลเป็นบุญหรือเป็นบาป สำหรับหลักเกณฑ์ข้อแรก เจตนาก็คือ ความตั้งใจหรือความรับรู้ ซึ่งแบ่งไว้เป็น ๓ อย่าง ได้แก่
๑. บุรพเจตนา คือ เจตนาก่อนทำ
๒. มุญจนเจตนา คือ เจตนาในเวลาทำ
๓. อปราปรเจตนา คือ เจตนาเมื่อได้ทำไปแล้ว

     ดังนั้น การกระทำโดยมีเจตนาเกิดขึ้นในตอนใดตอนหนึ่งถือว่าเป็นกรรมทั้งสิ้น ส่วนการกระทำที่ไม่มีเจตนา คือ ใจไม่ได้สั่งให้ทำ ไม่จัดว่าเป็นกรรม เช่น คนเจ็บซึ่งมีไข้สูง เกิดเพ้อคลั่ง แม้จะพูดคำหยาบออกมา เอามือหรือเท้าไปถูกใครเข้า ก็ไม่ถือเป็นกรรม ในทางวินัยก็ยกเว้นให้พระที่วิกลจริตซึ่งล่วงเกินสิกขาวินัยไม่ต้องอาบัติ ทั้งนี้ ก็โดยหลักเกณฑ์ที่ว่า ถ้าผู้ทำไม่มีเจตนา กระทำแล้วการกระทำนั้นก็ไม่เป็นกรรม ส่วนหลักเกณฑ์ข้อที่ ๒ ที่ว่า การกระทำนั้นจะต้องให้ผลเป็นบุญหรือเป็นบาป ก็เพื่อแยกการกระทำของพระอรหันต์ออกจากการกระทำของปุถุชน เนื่องจากพระอรหันต์เป็นอริยะบุคคลผู้หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ ไม่มีความยึดถือในตัวตน การกระทำเรียกว่า “อัพยากฤต” ไม่นับว่าเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่ว บุญและบาปก็ไม่มี การกระทำของพระอรหันต์จึงไม่เรียกว่า กรรม แต่เรียกว่า “กิริยา” ส่วนปุถุชนยังมีความยึดมั่นในตัวตนอยู่ จะทำอะไรก็ยังยึดถือว่า ตนเป็นผู้กระทำ การกระทำของปุถุชนจึงเป็นกรรม ย่อมจะก่อให้เกิดวิบากหรือผลเสมอ กรรมดีก็ก่อให้เกิดบุญ ส่วนกรรมชั่วก็ก่อให้เกิดบาปนอกจากนี้ คนบางคนเข้าใจว่ากรรมหมายถึง สิ่งไม่ดีคู่กับเวร หรือบาป เช่นที่เรียกว่า เวรกรรม หรือ บาปกรรม ตรงกันข้ามกับฝ่ายข้างดีซึ่งเรียกว่าบุญ ทั้งนี้เพราะเราได้ใช้คำว่ากรรมในความหมายที่ไม่ดี เช่นเมื่อเห็นใครต้องประสบเคราะห์ร้ายและถูกลงโทษ เราก็พูดว่ามันเป็นเวรกรรมของเขา หรือเขาต้องรับบาปกรรมที่เขาทำไว้ แต่ความจริงคำว่ากรรมเป็นคำกลาง ๆ หมายถึงการกระทำตามที่กล่าวมาแล้ว จะมุ่งไปในทางดีก็ได้ ทางชั่วก็ได้ ถ้าเป็นกรรมดี เราก็เรียกว่า “กุศลกรรม” ถ้าเป็นกรรมชั่ว เราก็เรียกว่า “อกุศลกรรม” ซึ่งกรรมอาจจะจำแนกออกได้เป็นหลายประเภท หากแบ่งตามทางที่ทำก็แบ่งเป็น ๓ ทาง ได้แก่

๑. กายกรรม คือ กรรมที่แสดงออกทางกาย
๒. วจีกรรม คือ กรรมแสดงออกทางวาจา
๓. มโนกรรม คือ กรรมที่แสดงออกทางใจ 

โดยในกรรมบถ ๑๐ แบ่งกรรม ๓ ทางนั้นเป็นฝ่ายกุศลและฝ่ายอกุศลแต่ละฝ่าย มีรายละเอียดของกรรมหรือการกระทำดังนี้

กายกรรมหรือกรรมทางกาย แบ่งเป็นฝ่ายละ ๓ คือ

๑) ฝ่ายอกุศล ได้แก่ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ และผิดประเวณี
๒) ฝ่ายกุศล ได้แก่ เว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ และเว้นจากการผิดประเวณี

วจีกรรม แบ่งเป็นฝ่ายละ ๔ คือ

๑) ฝ่ายอกุศล ได้แก่ พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ และพูดเพ้อเจ้อ
๒) ฝ่ายกุศล ได้แก่ เว้นจากการพูดเท็จ เว้นจากการพูดส่อเสียด เว้นจากการพูดคำหยาบและเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ

มโนกรรม แบ่งเป็นฝ่ายละ ๓ คือ

๑) ฝ่ายอกุศล ได้แก่ เพ่งเล็งทรัพย์ผู้อื่น ปองร้าย และเห็นผิดจากคลองธรรม
๒) ฝ่ายกุศล ได้แก่ ไม่เพ่งเล็งทรัพย์ผู้อื่น ไม่ปองร้าย และเห็นชอบตามคลองธรรม

     ตามที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าแม้แต่การนึกคิดก็จัดว่าเป็นกรรมแล้ว เช่นเราคิดจะลักทรัพย์หรือทำร้ายคนอื่น แม้จะยังไม่ลงมือทำก็ถือเป็นกรรมชั่วซึ่งจะต้องมีผลตอบแทนแล้ว ผิดกับการลงโทษตามกฎหมายอาญาซึ่งจะลงโทษได้ก็ต่อเมื่อผู้กระทำ ได้เตรียมการหรือลงมือกระทำแล้วเท่านั้น ลำพังความคิดที่จะกระทำความผิดยังหามีโทษไม่ ตามที่กฎหมายอาญจะไม่เอาโทษการคิดที่จะกระทำความผิดก็เพราะเป็นการยากที่จะพิสูจน์ความนึกคิดของบุคคล และเห็นว่ายังไม่มีความเสียหายเกิดขึ้น แต่หลักของกรรมถือความคิดชั่วเป็นความผิด ก็เนื่องจากว่าแม้ว่าคนอื่นยังไม่เสียหายผู้คิดเองก็เสียหาย ฉะนั้นจึงต้องมีวิบากติดตามมา จะเห็นได้ว่าการสนองผลของกรรมมีขอบเขตกว้างขวางกว่าการลงโทษของกฎหมายบ้านเมืองอยู่มากสำหรับประเภทของ “กรรม” สามารถจำแนกประเภท ได้แบ่งกรรมไว้ ๑๒ ประเภท ตามกาลเวลา ตามหน้าที่ และตามความหนักเบา ดังนี้

     กรรมให้ผลตามเวลา

๑. ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม คือ กรรมให้ผลในชาตินี้
๒. อุปปัชชเวทนียกรรม คือ กรรมให้ผลในชาติหน้า
๓. อปราปรเวทนียกรรม คือ กรรมให้ผลในชาติต่อ ๆ ไป
๔. อโหสิกรรม คือ กรรมที่เลิกให้ผล คือให้ผลเสร็จไปแล้ว หรือหมดโอกาสจะให้ผลต่อไป

     กรรมให้ผลตามหน้าที่

๕. ชนกกรรม คือ กรรมที่แต่งมาดีหรือชั่ว
๖. อุปถัมภกกรรม คือ กรรมที่สนับสนุน คือ ถ้ากรรมเดิมหรือชนกกรรมแต่งดี ส่งให้ดียิ่งขึ้น กรรมเดิมแต่งให้ชั่ว ก็ส่งให้ชั่วยิ่งขึ้น
๗. ปุปปีฬกกรรม คือ กรรมบีบคั้นหรือขัดขวางกรรมเดิม คอยเบียนชนกกรรม เช่น เดิมแต่งมาดี เบียนให้ชั่ว เดิมแต่งมาชั่ว เบียนให้ดี เป็นต้น
๘. อุปฆาตกกรรม คือ กรรมตัดรอน เป็นกรรมพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ เช่น เดิมชนกกรรมแต่งไว้ดีเลิศ กลับทีเดียวลงเป็นขอทานหรือตายไปเลย หรือ เดิมชนกกรรมแต่งไว้ เลวมาก กลับทีเดียวเป็นพระราชาหรือมหาเศรษฐีไปเลย

     กรรมให้ผลตามความหนักเบา

๙. ครุกรรม คือ กรรมหนัก กรรมฝ่ายดี เช่น ทำสมาธิจนได้ฌาน กรรมฝ่ายชั่ว เช่นทำอนันตริยกรรม มีฆ่าบิดามารดา เป็นต้น เป็นกรรมที่จะให้ผลโดยไม่มีกรรมอื่นมาขวางหรือกั้นได้
๑๐. พหุลกรรม คือ กรรมที่ทำจนชิน
๑๑. อาสันนกรรม คือ กรรมที่ทำเมื่อใกล้ตาย หรือที่เอาจิตใจจดจ่อในเวลาใกล้ตาย อาสันนกรรม ย่อมส่งผลให้ไปสู่ที่ดีหรือชั่วได้ เปรียบเหมือนโคแก่ที่อยู่ปากคอก แม้แรงจะน้อย แต่เมื่อเปิดคอกก็ออกได้ก่อน
๑๒. กตัตตากรรม กรรมสักแต่ว่าทำ คือ เจตนาไม่สมบูรณ์ อาจจะทำด้วย ความประมาทหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่ก็อาจส่งผลดีร้ายให้ได้เหมือนกัน ในเมื่อไม่มีกรรมอื่น จะให้ผลอีกแล้ว

     อย่างไรก็ตาม เหตุใดทุกยุคทุกสมัยจึงมีผู้คนแสดงความคิดโดยขาดปัญญาที่แท้จริงว่า “ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป ?” มีคนบางคนที่ทำกรรมชั่วแต่กลับปรากฏว่ากลับกลายเป็นคนร่ำรวย มีอำนาจวาสนา มีคนเคารพยกย่อง ส่วนคนบางคนทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ขยันขันแข็ง กลับมีสภาพยากจนมีชีวิตอยู่ด้วยความยากลำบาก หรือคนบางคนไม่ค่อยทำงานอะไร คอยประจบสอพลอและรับใช้เจ้านายกลับได้ดี ได้เลื่อนเงินเดือนและตำแหน่ง ส่วนคนบางคนตั้งใจทำงานแต่ไม่ประจบเจ้านาย ไม่ค่อยรับใช้คุณหญิงคุณนายของเจ้านายกลับไม่ได้ดี จึงทำให้คนคิดไปว่ากฎแห่งกรรมจะไม่จริง คำสั่งสอนที่ว่า “กลฺยาณการี กลฺยาณํ ปาปการี จ ปาปกํ”ซึ่งมีความหมายว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” คงจะไม่เป็นความจริงเสียแล้ว การที่บางคนเห็นว่าทำดีไม่ได้ดี หรือทำชั่วไม่ได้ชั่ว เนื่องจากไม่เข้าใจ ๒ ประการ กล่าวคือ

ประการแรก ไม่เข้าใจในเรื่องการให้ผลของกรรม

ประการสอง ไม่เข้าใจในความหมายของคำว่าได้ดีและได้ชั่ว และการให้ผลของกรรมอย่างแท้จริง

     ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวสามารถอธิบายถึงการให้ผลของกรรมโดยสังเขปว่า การให้ผลของกรรมนั้นมี ๒ ชั้น คือ การให้ผลของกรรมชั้นธรรมดาอย่างหนึ่ง และการให้ผลของกรรมในชั้นศีลธรรมอีกอย่างหนึ่ง การให้ผลของกรรมชั้นธรรมดา เป็นการให้ผลโดยไม่คำนึงถึงว่าถูกหลักความชอบธรรมหรือไม่ เช่นนาย ก. โกงเงินหลวง หรือขโมยทรัพย์มา นาย ก. ก็จะได้เงินนั้นมา และถ้านาย ก. ใช้เงินซื้อบ้าน นาย ก. ก็จะได้อยู่บ้านนั้น นี่เป็นการให้ผลของกรรมชั้นธรรมดา แต่การให้ผลของกรรมหาได้หยุดอยู่เพียงเท่านั้นไม่ กรรมที่ทำลงไปยังจะให้ผลในชั้นศีลธรรมอีก คือ ถ้าทำดีจะต้องได้รับผลดีอย่างแน่นอน และถ้าทำชั่วก็จะต้องได้รับผลชั่วอย่างหลีกไม่พ้น กรรมบางอย่างอาจจะให้ผลในชาตินี้ เรียกว่า “ทิฎฐธรรมเวทนียกรรม” กรรมบางอย่างอาจจะให้ผลในชาติหน้า ที่เรียกว่า “อุปปัชชเวทนียกรรม” และ กรรมบางอย่างอาจจะให้ผลในชาติต่อ ๆ ไปที่เรียกว่า “อปราปรเวทนียกรรม” เปรียบประดุจการปลูกพืชหรือต้นไม้ ไม่ใช่พอวางเมล็ดลงไปในดิน พืชหรือต้นไม้จะขึ้นและให้ผลทันที พืชบางอย่างก็ให้ผลเร็ว พืชบางอย่างก็ให้ผลช้าเป็นปี ๆ เช่น ข้าว เพียง ๔-๕ เดือนก็ให้ผล แต่ต้นมะพร้าวหรือทุเรียน กว่าจะให้ผลก็ใช้เวลาถึง ๕ ปี เป็นต้น ฉันใดก็ฉันนั้น การที่คนทำความชั่วยังได้ดีมีสุขอยู่ จึงเป็นเพราะกรรมชั่วยังไม่ให้ผล กรรมดีที่เขาเคยทำยังเป็น “อุปัตถัมภกกรรม” คอยสนับสนุนอยู่ เมื่อใดที่กรรมดีอ่อนกำลังลง กรรมชั่วก็จะมาเป็น “อุปฆาตกรรม” ทำให้ผู้นั้นต้องเปลี่ยนสภาพไปอย่างพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ เช่น เศรษฐีอาจจะต้องเป็นยาจก เคยเป็นผู้ยิ่งใหญ่มีอำนาจวาสนา อาจจะถูกฟ้องร้องต้องโทษจำคุก หรือต้องเที่ยวหลบหนีเร่ร่อนมีความยากลำบาก เป็นต้น ดังนั้น คนที่ไม่เชื่อเรื่องของกรรม มักจะมองเห็นผลของกรรมชั้นธรรมดา เป็นผู้มีสายตามืดมัว มองไม่เห็นการให้ผลของกรรมชั้นศีลธรรม บุคคลเหล่านี้มักจะเป็นคนไม่เชื่อในเรื่องตายแล้วเกิด คิดว่าคนเราเกิดมาเพียงชาตินี้ชาติเดียวก็สิ้นสุดลง คนพวกนี้เมื่อทำความชั่วและความชั่วยังไม่ให้ผลก็คิดว่าตนเป็นคนฉลาด ดูถูกพวกที่เชื่อเรื่องกรรมว่าเป็นคนโง่ งมงาย คนพวกนี้เหมือนคนที่กินขนมเจือยาพิษ ตราบใดที่ยาพิษยังไม่ให้ผลก็คิดว่าขนมนั้นเอร็ดอร่อย สมตามพุทธภาษิตที่ว่า “มธุวา มญฺญติ พาโล ยาว ปาปํ น มุจฺจติ” แปลว่า “คนโง่ย่อมจะเห็นบาปเป็นน้ำผึ้ง ตราบเท่าที่บาปยังไม่ให้ผล” นอกจากนี้ การให้ผลของกรรม อาจแบ่งเป็น การให้ผลทางจิตใจ และการให้ผลทางวัตถุ ซึ่งการให้ผลทางจิตใจ เป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้ทำโดยเฉพาะ ไม่เกี่ยวข้องกับคนอื่น เมื่อทำไปแล้วก็ได้รับผลทันที คือเมื่อทำกรรมดี ก็จะได้รับความสุขความปีติ แต่ถ้าทำกรรมชั่ว ก็จะทำให้จิตใจเศร้าหมอง เป็นทุกข์ ส่วนการให้ผลทางวัตถุเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกับผู้อื่น จะทำให้ได้ดียากมาก ซึ่งคนทำดี จะให้ได้ดีทางวัตถุ ต้องประกอบด้วยหลัก ๔ ประการ คือ

๑. คติสมบัติ ได้แก่ ทำดีให้ถูกสถานที่
๒. อุปธิสมบัติ ได้แก่ ทำดีให้ถูกตัวบุคคล
๓. กาลสมบัติ ได้แก่ ทำดีให้ถูกเวลา
๔. ปโยคสมบัติ ได้แก่ ต้องทำดีให้ติดต่อกันไปเรื่อย ๆ

     ดังนั้น การที่คนทำกรรมดีและหวังผลดีในทางด้านวัตถุ เช่น หวังลาภ ยศ และสรรเสริญ แต่ไม่ได้รับผลดีตามต้องการ อาจจะเพราะไม่เข้าตามหลัก ๔ ประการข้างต้น คือ ไปทำความดีกับบุคคลที่ไม่มีความดี เช่น เราทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต แต่เจ้านายของเราเป็นคนคอรัปชั่น (Corruption) การทำความดีของเราย่อมไม่เป็นที่ชื่นชมของเจ้านายของเรา การทำดีกับบุคคลเหล่านี้ก็ไม่ผิดอะไรกับเอาเมล็ดพืชทิ้งลงไปบนหิน หรือพื้นดินแห้งแล้ง ฉะนั้นการทำความดีเราควรจะหวังผลในทางจิตใจมากกว่าวัตถุ บางคนอาจจะ ทำความดีจริงแต่อาจจะทำไม่ถึงดี คือทำดีเพียงเล็กน้อยแล้วก็หวังผลแห่งความดีนั้น เมื่อไม่ได้รับผลตอบแทนก็หมดกำลังใจ แล้วก็บอกว่าทำดีไม่เห็นได้ดี คนพวกนี้เหมือนคนปลูกพืชรดน้ำพรวนดินนิดหน่อย ก็หวังที่จะให้พืชได้ผลเกินจริงดังต้องการ ความหมายของคำว่าได้ดีและได้ชั่วในทางโลกและทางธรรมจึงมีความหมายแตกต่างกัน กล่าวคือ ในทางโลก มักจะมองเห็นการได้ดีและได้ชั่วเป็นเรื่องทางวัตถุ เมื่อกล่าวว่าคนนั้นได้ดีก็มักจะหมายความว่า ผู้นั้นได้ลาภและยศ เช่นได้ทรัพย์สมบัติ ได้อำนาจวาสนา หรือได้ตำแหน่งหน้าที่การงานดีขึ้น เป็นต้น เมื่อไม่ได้สิ่งเหล่านี้ก็เข้าใจว่าไม่ได้ดี ในขณะที่ทางธรรมการได้ดีหรือได้ชั่วเป็นเรื่องของจิตใจ การได้ดี หมายถึง การทำให้จิตใจดีขึ้น ทำให้ธาตุแห่งความดีในตัวเองเรามีมากขึ้น ทำให้จิตใจของเราสะอาด สว่าง สงบยิ่งขึ้น ส่วนการได้ชั่ว หมายถึง การทำให้จิตใจต่ำลง เลวลง ทำให้จิตใจมืดมัวยิ่งขึ้น คำว่าได้ดีจึงหมายถึงความดี และคำว่าได้ชั่ว จึงหมายถึงความชั่ว หากเราจะพูดว่า ทำดีได้ความดี ทำชั่วได้ความชั่ว ก็จะทำให้เข้าใจในเรื่องได้ดีและได้ชั่วมากยิ่งขึ้น

     ดังนั้น เมื่อบุคคลที่กระทำกรรมอะไรลงไป ย่อมจะได้รับผลในทางจิตใจทันที เมื่อทำกรรมดี เช่น ทำบุญตักบาตร ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อื่น ก็จะทำให้จิตใจดีขึ้น มีความปีติ และความสุขในกรรมดีที่ตนทำ เป็นต้น ในเมื่อกรรมที่ทำเป็นกุศลกรรมจริง ๆ คือ ทำด้วยจิตใจที่เป็นกุศล ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่ใช่ด้วยความโลภหรือด้วยอกุศลเจตนา หรือหวังผลตอบแทนอื่นใด

     มนุษย์ดำเนินชีวิตและเป็นไปด้วยอำนาจกรรม ๕ ส่วน โดยน้ำหนักของผลแห่งกรรม ๒ ส่วนแรก ได้แก่ กรรมเก่า หรือ ผลแห่งวิบากกรรมตั่งแต่อดีตชาติที่ส่งผลต่อเนื่องให้ได้รับผลแห่งกรรมเหล่านั้นตามความหนักเบาของประเภทกรรมที่แตกต่างกัน และน้ำหนักของผลแห่งกรรม ๓ ส่วนที่เหลือ ได้แก่ กรรมปัจจุบัน หรือ ผลแห่งกรรมใหม่ที่ได้กระทำในชาติปัจจุบัน ซึ่งสามารถสังเกตผลแห่งกรรมที่พึงได้รับอย่างเป็นเหตุเป็นผลกับสิ่งที่เลือกจะประพฤติปฏิบัติได้อย่างเห็นได้ชัดเจน โดยอาจได้รับอิทธิพลส่งเสริมร่วมด้วยจากปัจจัยของกรรมเก่าในอดีตที่สอดคล้องหรือเสริมแรงกัน อาทิเช่น มีเหตุให้เจ็บป่วยซ้ำซากและถึงขั้นต้องผ่าตัดอวัยวะอยู่บ่อยครั้งเพื่อการรักษาและเยียวยาชีวิตอันเนื่องมาจากผลแห่งการสร้างกรรมปัจจุบันที่ไม่ดูแลสุขภาพกายตนเอง ปล่อยปละละเลยเรื่องการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ บริโภคแต่อาหารที่ก่อให้เกิดสารพิษหรือไขมันสูงจนต้องมีอาการของโรคต่าง ๆ เกิดขึ้น ทั้งไขมันในเส้นเลือด เบาหวาน ความดันสูง เป็นต้น แต่เหตุปัจจัยที่อาจส่งผลร่วมด้วยกับอำนาจกรรมใหม่จากการไม่ดูแลสุขภาพในชาติปัจจุบันก็คือ ในอดีตชาติอาจกระทำการอันใดซึ่งเข้าข่ายการเบียดเบียนชีวิตผู้อื่นและไม่เคยทำบุญโดยการให้ชีวิตหรือทำบุญด้านอาหารและยากับพระสงฆ์ จึงส่งผลให้ต้องได้รับทุกขเวทนาจากโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนอยู่เป็นนิจและถึงขั้นต้องเข้ารับการผ่าตัดจากโรคภัยที่เกิดขึ้นที่โรงพยาบาลในชาติปัจจุบัน เหล่านี้เป็นต้น นอกจากนี้ อาตมายังเชื่อว่า การรับรู้เรื่องกรรมและผลของการกระทำนี้ จำเป็นต้องอาศัยปัญญาที่ประณีตและมักรู้หรือประจักษ์ความเข้าใจได้เฉพาะตนอย่างแท้จริง เนื่องจากผลของการกระทำที่เราทำไว้ทั้งดีและไม่ดีก็ตาม ย่อมส่งผลให้ตัวของเราเองทุกคนได้รับรู้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แม้ไม่ต้องประกาศให้ผู้ใดรับรู้รับทราบ เราก็จะได้รับผลแห่งการกระทำของเราทั้งดีและไม่ดีเสมออย่างมิอาจปฏิเสธได้เลย

     โดยสรุปแล้วจะเห็นได้ว่า กฎแห่งกรรมนั้นไม่ได้ละเว้นคนมั่งคั่งร่ำรวยหรือยากจน ใครก็ตามที่ทำความชั่วย่อมได้รับผลของกรรมชั่วไม่ช้าก็เร็วไม่รูปแบบใดก็รูปแบบหนึ่ง ไม่วันนี้ก็วันหน้า โดยเฉพาะเมื่อใดคนในสังคมยังอยู่ร่วมกันโดยขาดหลักพุทธธรรมและขาดความเชื่อในเรื่องกฎแห่งกรรมและผลของการกระทำ สังคมนั้นก็จะประสบแต่ปัญหา ความวุ่นวาย ความทุกข์ร้อนอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีทางที่จะเติมเต็มอำนาจแห่งกิเลส ตัณหา ราคะ ที่ส่งผลร้อนแรงให้ขาดสันติสุขแห่งความร่มเย็นได้ แต่เมื่อใดพุทธธรรมในจิตใจและการตระหนักรู้ในกฎแห่งกรรมของผู้คน ในสังคมมากขึ้นเรื่อย ๆ ดัชนีชี้วัดความสุขสงบและความรู้จักพอเพียงตามอัตภาพทางธรรมก็จะนำพาให้ทุกชีวิตในสังคมเรียนรู้ที่จะรู้จักให้ รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีเมตตาจิตต่อกัน โลกใบนี้ก็จะหมุนวงล้อแห่งกงเกวียนกำเกวียนไปด้วยความสว่างแห่งแสงธรรมนำทาง ไม่มืดมัวด้วยอวิชชา และอยู่เย็น เป็นสุขตามเหตุปัจจัยอย่างผาสุกแท้จริง

     ผลของการ  กระทำ  ย่อมนำชี้
อเวจี  หรือสวรรค์  นั้นมีผล
สร้างกรรมดี  กรรมอำนวย  จะช่วยดล
ให้เราพ้น  วิบากกรรม  ที่ทำมา
     แม้ความดี  กระทำ  แสนลำบาก
ยากแสนยาก  อย่างไร  ให้ฟันฝ่า
ชีพจะไม่  มืดมิด  ยามปิดตา
กุศลพา  วิญญาสุข  ไกลทุกข์ตรม

 


4 August 2018

วัดนิคมสโมสร(บางคลี)