ทำทานอย่างไร ให้ได้ผลมาก

เจตนาที่บริสุทธิ์ในการทำทานนั้นควรถึงพร้อมทั้งสามระยะคือ ก่อนให้ กำลังให้ และหลังจากให้แล้ว

วิธีการทำทานให้ได้บุญมากที่สุด ทำอย่างไร

อานิสงส์และบุญกุศลแห่งการทำทานจะมากมายแค่ไหนขึ้นอยู่กับว่า "จุดมุ่งหมายที่เราทำทานนั้นทำเพื่ออะไร" หากมุ่งหวังจะจุนเจือเพื่อให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์และความสุขด้วยความมีเมตตาจิตของตนเองแล้วย่อมได้อานิสงส์มากกว่า การทำทานเพียงเพราะหวังในผลแห่งทานหรือหวังในทรัพย์ที่จะได้มาภายหลังมาก ตามหลักของพระพุทธศาสนาที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกมีอยู่ ๔ ประการ (คำพระท่านว่า สัมปทา) ได้แก่

๑. ผู้รับทานนั้นมีศีลบริสุทธิ์ เช่น เป็นพระอริยบุคคลหรือเป็นผู้ที่มีศีลมาก (วัตถุสัมปทา)

ในพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก ว่าด้วยการสร้างบุญบารมีพระองค์ก็ได้กล่าวถึงเรื่องบุคคลผู้รับทานนั้นเป็น "ปัจจัยหรือเงื่อนไขที่สำคัญที่สุด"  เพราะเราจะทำทานให้ได้ผลบุญมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับคนพวกนี้ หากคนที่รับการให้ทานนั้นเป็นผู้ที่มีศีลมีคุณธรรมสูง เมื่อให้ทานไปแล้วก็ย่อมเกิดผลบุญมาก หากผู้รับเป็นผู้ที่ไม่มีศีลมีธรรมแล้ว ผลแห่งทานนั้นก็จะไม่เกิดขึ้นคือได้บุญน้อย

คติโบราณที่กล่าวว่า "ตักบาตรอย่าเลือกพระ" นั้นคงจะใช้ไม่ได้ในสมัยปัจจุบัน เพราะในอดีตโดยเฉพาะในสมัยพุทธกาลนั้นมีพระอรหันต์มากมายจึงไม่จำเป็นต้องเลือกเพราะท่านเหล่านั้นออกบวชเพื่อหนีออกจากวัฏสงสาร โดยมีความมุ่งหวังจะทำมรรคผลนิพพานให้แจ้งจึงเรียกได้ว่าเป็นผู้ที่มีความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง

แต่ทว่าในสมัยปัจจุบันเรานี้ พระภิกษุที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบนั้นแม้จะยังมีอยู่แต่ก็หาได้ยากมากขึ้นเพราะส่วนใหญ่มักจะบวชด้วยคติ ๔ ประการคือ บวชเป็นประเพณี บวชหนีทหาร บวชเอาสนุก และบวชเพราะไม่รู้จะทำมาหาเลี้ยงชีพอย่างไรจึงมาบวชโดยไม่สนใจประพฤติธรรมวินัยจึงเป็นการยากเช่นเดียวกันสำหรับที่มุ่งหวังจะทำทานให้ถูกกับ “วัตถุสัมปทา” เช่นนี้

การที่เราจะได้พบผู้ที่มีวัตถุสัมปทาบริสุทธิ์นั้นทำอย่างไร ก็ขอให้ยึดเอาตามหลัก "กฎแห่งกรรม" ที่ได้กล่าวมาแล้วเป็นสำคัญคือ ประการแรกขึ้นอยู่กับผลแห่งกรรมดีที่เป็นของเก่าที่ติดมา (หากจะตีความหมายไปในทางเดียวกับคำว่า "วาสนา" ก็คงไม่ผิดนัก) หากเราได้เคยสร้างสมบุญบารมีมาดีแล้วด้วยผลแห่งกรรมนี้นั้นก็จะชักนำพาให้เราไปพบเจอกับ พระภิกษุผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบได้เองโดยง่าย ในทางตรงกันข้ามหากในอดีตเราไม่ได้สร้างบุญมาดีมากแต่ยังพอสร้างมาบ้าง ก็อาจจะได้เจอทั้งผู้ที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบสลับกับพวกที่เป็นอลัชชีอยู่คละเคล้ากันไป

ประการต่อมาคือ การแสวงหา "วัตถุสัมปทา" หรือผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบให้ได้ด้วยตนเองควบคู่กันไปโดยพยายามสังเกตเอาข้อวัตรในการปฏิบัติของ พระภิกษุเป็นที่ตั้งคือท่านมีระเบียบวินัยในการปฏิบัติเป็นอย่างไร กิริยาโดยทั่วไปสำรวมมากน้อยแค่ไหน รวมไปถึงบริเวณภายในวัดมีความสะอาดเป็นระเบียบมากน้อยหรือไม่ สิ่งเหล่านี้จะบ่งบอกถึงข้อวัตรในการปฏิบัติของท่านได้ เพราะหากเหตุดีผลก็ต้องดี พระผู้ปฏิบัติดีจะมีกิริยาอาการทั่วไปสงบเรียบร้อย เมื่อได้สนทนาด้วยก็จะรู้สึกได้เองว่าท่านมีเมตตาสูง มีวาจาไพเราะ การแต่งกายก็จะสำรวมมิดชิดรวมถึงบริเวณภายในวัดก็จะสะอาดเป็นระเบียบเพราะท่านได้ลงมือปฏิบัติทำความสะอาดอยู่เป็นประจำ

๒. สิ่งของที่จะนำมาทำทานนั้นเป็นของที่ได้มาโดย สุจริต (ปัจจยสัมปทา)

วัตถุสิ่งของที่ได้มาโดย "สุจริต" หรือมีความบริสุทธิ์นั่นคือ เหตุแห่งการได้มาซึ่งของเหล่านี้คือได้มาจากการประกอบวิชาชีพที่สุจริตด้วยแรงด้วยกำลังของตัวเองอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นของที่ยืมมา หรือไปลักขโมยมาหรือไปเบียดเบียนผู้อื่นไม่ว่าทางใดก็ตาม

ยกตัวอย่างเช่น การไปฆ่าสัตว์เพื่อนำมาประกอบอาหารอย่าง ปลา วัว ควาย หรือสัตว์ชนิดอื่นๆ ด้วยตนเอง เพื่อหวังจะนำเนื้อสัตว์เหล่านั้นมาทำอาหารไปทำบุญพระหรือไปบริจาคให้คนยากไร้ การที่เราได้เบียดเบียนชีวิตผู้อื่นมาทำทานนั้นแม้จะเอาไปทำบุญสร้างบารมีก็ได้เพียงแต่น้อย จนถึงเกือบจะไม่ได้อะไรเลย

๓. มีจิตเลื่อมใสใน ๓ กาล คือ ก่อนให้ กำลังให้ และหลังจากให้แล้ว (เจตนาสัมปทา)

เจตนาที่บริสุทธิ์ในการทำทานนั้นควรถึงพร้อมทั้งสามระยะคือ ก่อนจะให้ทานก็มีความสุข ร่าเริงและยินดีที่จะให้ทานเพื่อสงเคราะห์ให้คนอื่นได้รับความสุข ระยะที่กำลังให้ทานก็ควรมีจิตที่สดชื่นแจ่มใส ร่าเริงเบิกบานในทานที่เรากำลังลงมือให้ผู้อื่น และเมื่อครั้งให้ทานเสร็จแล้วหลังจากนั้นไม่ว่าเวลาจะผ่านไปสักเท่าใดก็ไม่มีความรู้สึกเสียดาย นึกถึงคราวใดก็มีความสุขอิ่มเอมใจ อย่างนี้เรียกว่า เจตนามีความสมบูรณ์ทั้งสามระยะ

แม้ในเรื่องเจตนานี้ยังส่งผลชัดเจนต่อผลแห่งการทำทานเพราะเจตนาในระยะให้ทานแตกต่างกันไปคือ

ก่อนให้ทานมีเจตนาบริสุทธิ์แต่ขณะให้และให้ไปแล้วไม่บริสุทธิ์

การที่เจตนาแห่งทานมีความบริสุทธิ์เพียงช่วงระยะแรกนั้นก็จะส่งผลแห่งทานให้เกิดขึ้นไม่สม่ำเสมอกันคือ จะได้ผลแห่งทานกลับคืนมาอย่างรวดเร็วแต่ก็อาจมีเหตุให้ต้องสูญเสียทรัพย์นั้นไปเพราะในขณะที่ให้มีความเสียดายหลังให้ไปแล้วก็ยังเสียดายทำให้ผลแห่งทานหมดกำลัง เมื่อได้ทรัพย์กลับมาแล้วอาจจะรักษาทรัพย์เอาไว้ไม่ได้

ก่อนให้ทานมีเจตนาไม่ดีแต่ขณะให้มีเจตนาดีแต่หลังให้กลับไม่บริสุทธิ์อีก

เรื่องราวแบบนี้มีปรากฏอยู่หลายครั้งในปัจจุบันเช่น ก่อนจะลงมือทำทานไม่ได้คิดว่าจะศรัทธามาก่อนมีเหตุจำเป็นต้องทำอย่างเสียไม่ได้ ทำเพราะพวกมากลากไป แต่ขณะที่ได้ทำกลับรู้สึกดีมีความสุข ด้วยอานิสงส์แห่งเจตนานี้ก็จะส่งผลให้แม้ในระยะเริ่มต้นชีวิตประสบความยากลำบากแต่พอถึงช่วงวัยกลางคนกิจการงานหรือธุรกิจที่ได้ทำมีอานิสงส์ประสบความสำเร็จเจริญรุ่งเรือง

และหากเจตนามีความบริสุทธิ์ไปถึงระยะสุดท้ายก็จะทำให้ผลบุญยิ่งมีพลังเกื้อหนุนยาวนาน ทำให้เจริญรุ่งเรืองตลอดไป ในทางตรงกันข้ามหากเจตนาในระยะที่สามไม่บริสุทธิ์เกิดเสียดายทานนั้นอยู่บ่อยๆ แม้กิจการจะเจริญรุ่งเรืองอยู่ในวัยกลางคนแต่ก็อาจเกิดปัญหาประสบความล้มเหลวในบั้นปลายได้เพราะอานิสงส์แห่งทานนั้นหมดกำลัง ส่งผลไม่ตลอดรอดฝั่งจนบั้นปลายชีวิต

ก่อนให้ทานและขณะให้ทานมีเจตนาไม่บริสุทธิ์แต่หลังจากให้ไปแล้วเกิดความยินดี

การให้ทานด้วยเจตนานี้สืบเนื่องมาจากผลแห่งทานที่ผู้กระทำมีเจตนาไม่ดีหรือไม่บริสุทธิ์มาทั้งในระยะที่สองแต่ในระยะสุดท้ายคือเกิดยินดีเวลานึกถึงผลแห่งทานที่ได้กระทำลงไปแล้ว ด้วยอานิสงส์นี้ในชาติปัจจุบันแม้จะเกิดมายากจนและต้องทำงานหนักไปเกือบตลอดชีวิตต้องต่อสู้ดิ้นรนขวนขวายสร้างตนเองมากแม้จะเลยวัยกลางคนไปแล้วก็ต้องล้มลุกคลุกคลานตลอดมา

พอถึงช่วงบั้นปลายชีวิตทำให้ผลแห่งทานนั้นได้ส่งผล เกิดเหตุประสบช่องทางที่เหมาะ ทำให้กิจการงานเจริญรุ่งเรืองแบบไม่น่าเชื่อทำมาค้าขึ้นอย่างไม่คาดฝันตัวอย่างชีวิตคนจริงๆ ที่เห็นได้ชัดก็มีบุคคลสำคัญๆ ของโลกที่ร่ำรวยมหาศาลในช่วงปลายชีวิตก็มีให้เห็นกันจริง ๆ

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเจตนาเรื่องแห่งการให้ทานนั้นมีความสำคัญคือเมื่อตั้งใจจะให้อะไรกับใครแล้วขอให้ตั้งจิตเป็นกุศลอย่าได้มัวเสียดายสิ่งที่เราทำทานลงไปผลแห่งทานนั้นย่อมย้อนกลับมาสู่ผู้กระทำทานนั้นอย่างแน่นอน

๔. ผู้ที่ได้รับทานนั้นเพิ่งออกจาก นิโรธสมาบัติ (คุณาติเรกสัมปทา)

คำว่า นิโรธสมาบัติ แปลแยกคำได้ว่า "นิโรธ" แปลว่า หนทางดับทุกข์ กับ "สมาบัติ" แปลว่า ความถึงพร้อม ผู้ที่ได้เข้านิโรธสมาบัติก็หมายถึงผู้ที่ถึงพร้อมจะเข้าสู่หนทางดับทุกข์แล้ว ในทางพระพุทธศาสนาหมายถึง พระอริยสงฆ์ตั้งแต่พระอนาคามีและพระอรหันต์เท่านั้นที่จะสามารถทำได้

การเข้านิโรธสมาบัติเป็นการเข้าสมาธิบำเพ็ญจิตภาวนาเป็นระยะเวลานานและเข้าได้ยาก ต้องหาเวลาว่างจริงๆ เพราะเข้าคราวหนึ่งใช้เวลาอย่างน้อย ๗ วันและอย่างมากไม่เกิน ๑๕ วันโดยที่ไม่มีการกระทำกิจอันใดอื่นๆ แทรกเลยเมื่อพระอริยสงฆ์ผู้ที่ออกจากนิโรธสมาบัติแล้วจะทำให้ร่างกายทรุดโทรมและได้รับความลำบากมากเพราะท่านอดข้าวอดน้ำกันติดต่อกันเป็นเวลานาน ดังนั้นตามความเชื่อในพระไตรปิฎกใครได้ทำบุญแก่พระภิกษุที่ออกจากนิโรธสมาบัตินี้จะได้ผลในวันนั้น หมายความว่าคนจนก็จะได้เป็นมหาเศรษฐีในวันนั้น

คุณผู้อ่านคงจะจำกระทาชายหนุ่มคนที่กลายเป็นมหาเศรษฐีคือ ภัตตภติกะเศรษฐีได้ก็เพราะมีองค์ประกอบครบ ๔ ประการ จึงได้อานิสงส์แห่งทานมากกลายเป็นมหาเศรษฐีในพริบตา แต่ในสมัยปัจจุบันนั้นมีความแตกต่างเรื่องนี้ออกไป เพราะการจะได้พบพระอริยสงฆ์ระดับชั้นสูงอย่างพระอนาคามีหรือพระอรหันต์นั้นก็เรียกได้ว่ายากเต็มทีแล้ว ยิ่งการจะได้พบขณะที่ท่านออกจากนิโรธสมาบัตินั้นก็ยิ่งเป็นเรื่องที่ยากลำบากเกินวิสัยคนธรรมดาจะได้พบ ผู้ที่จะได้พบและมีโอกาสได้ทำบุญถวายทานกับพระอริยสงฆ์ที่เพิ่งออกจากนิโรธสมาบัตินั้นเรียกได้ว่าขึ้นอยู่กับ "กรรมเก่า" ที่ได้สร้างบุญมาดีจริง ๆ จึงจะมีโอกาสได้พบ

ดังนั้นในปัจจุบันจึงกล่าวถึงหลักแห่งการทำทานให้ได้ผลอานิสงส์สูงไว้เพียง ๓ ประการเท่านั้นแต่ในที่นี้อยากจะขอกล่าวเพิ่มไว้ในประเด็นสำคัญที่คนปัจจุบันสามารถทำทานให้ได้ผลบุญอานิสงส์มากนั้นเกี่ยวข้องกับ "อาการแห่งการให้ด้วย"

อาการแห่งการให้ทานต้องมีความบริสุทธิ์และถึงพร้อม

นอกจากเจตนาในการให้แล้วจิตเจตนาของผู้ให้จะส่งผลไปสู่การกระทำทางกาย ที่เห็นได้จากกิริยาอาการที่แสดงออกมาในเวลาให้ทานก็มีความสำคัญมากเพราะนอกจากจะบ่งบอกถึง "คุณภาพใจ" ของผู้ให้แล้วยังมีผลกระทบต่ออานิสงส์ที่จะได้รับอีกด้วย

หากเรามี "อาการของการให้ที่ดีประกอบแล้วย่อมส่งผลถึงอานิสงส์ที่จะได้รับในทานนั้นอย่างชัดเจนหากมีอาการในการให้ที่ไม่ดีไม่บริสุทธิ์แม้เจตนาจะบริสุทธิ์ผลสัมฤทธิ์แห่งทานย่อมไม่ถึงที่สุดแห่งผลบุญฉันนั้น อาการแห่งการให้ที่ดีนี้เรียกว่า "สัปปุริสทาน"

พระพุทธองค์ตรัสเรื่องอาการแห่งการให้ที่ดีนี้ ไว้กับอนาถบิณฑิกเศรษฐีในสมัยพุทธกาลขณะที่ท่านเศรษฐีกำลังยากจนลงแต่ก็ยังมุ่งมั่นถวายทานด้วยอาหารที่พอจะหาได้ซึ่งพระองค์กล่าวไว้ว่า

"การให้ทานนั้นจะเป็นของดีหรือไม่ก็ตาม ผลแห่งทานจะมีความสมบูรณ์หากได้ให้ด้วยอาการแห่งสัตบุรุษ ๕ ประการนี้ คือ สัตบุรุษย่อมให้ทานด้วยอาการ ศรัทธา ๑ ย่อมให้ทานโดยเคารพ ๑ ย่อมให้ทานโดยกาลอันควร ๑ เป็นผู้มีจิตอนุเคราะห์ให้ทาน ๑ และย่อมให้ทานไม่กระทบตนเองและผู้อื่น ๑ ดังนั้น คนดีมีปัญญา เมื่อให้ก็ควรให้แต่สัปปุริสทาน ซึ่งจะนำความสุขความดีงามที่สมบูรณ์มาสู่ชีวิต"

๑. การให้ทานด้วยอาการศรัทธาเป็นอย่างไร

คืออาการแห่งการให้ทานนั้นให้ด้วยความเลื่อมใสใน "กฎแห่งกรรม" ว่า ทำดีย่อมได้ผลที่ดี ทำชั่วก็ได้ผลเป็นทุกข์ให้เดือดเนื้อร้อนใจ เชื่อว่าสัตว์ทั้งหลายนั้น ย่อมมีกรรมเป็นของตน ล้วนต่างเป็นไปตามกรรมที่ตนกระทำและเชื่อในปัญญาเครื่องตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

คนเราจะบริสุทธิ์ได้ ด้วยการประกอบความดีด้วยกาย วาจา และใจที่บริสุทธิ์มาก และจะสามารถเข้าถึงธรรมะภายในตนซึ่งมีอยู่แล้วในสรรพสัตว์ทั้งหลายได้ การน้อมนำธรรมะของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติ จะทำให้ตนมีความบริสุทธิ์ขึ้นจนถึงขั้นตรัสรู้ธรรมได้ ผู้ที่ให้ทานด้วยความศรัทธาย่อมเป็นผู้ที่มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก และเป็นผู้มีรูปร่างหน้าตาที่สวยงาม น่าดู น่าเลื่อมใส ประกอบด้วยผิวพรรณงามในที่ที่ทานนั้นส่งผล

๒. ให้ทานด้วยอาการที่มีความเคารพเป็นอย่างไร

คือมีเคารพในตัวบุคคลที่เราจะมอบทานนั้นให้ มีความอ่อนน้อม เช่น การให้ของโดยการยกประเคนด้วยมือทั้งสองหรือยกขึ้นเหนือหัวแล้วจึงให้อย่างนี้ย่อมแสดงถึงอาการแห่งความเคารพและเจตนาแห่งการให้ได้เต็มที่ ผู้ที่ให้ทานด้วยความเคารพจะส่งผลให้กลายเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มากและจะเป็นผู้ที่มีบุตรภรรยา บริวารคนใช้หรือคนงาน ที่อยู่ในโอวาทคอยฟังคำสั่งสอนหรือตั้งใจใคร่รู้ในที่ที่ทานนั้นส่งผล

๓. ให้ทานตามกาลเป็นอย่างไร

คือ ให้ทานนั้น ๆ ในเวลาที่สมควร ซึ่งเป็นเวลาจำเพาะที่จะต้องให้ในช่วงนี้เท่านั้นหากเลยเวลานี้ไปก็ไม่สำเร็จประโยชน์หรือเกิดผลแห่งทานแล้ว

ยกตัวอย่างความเชื่อเรื่องการทำบุญทอดกฐินว่าทำไมจึงเชื่อกันว่าเป็นทานที่ทำแล้วได้บุญมากก็เพราะการถวายผ้ากฐินแด่สงฆ์นั้นต้องกระทำในช่วงภายหลังจากออกพรรษาในเวลา ๑ เดือนเท่านั้นเนื่องจากภายในหนึ่งปีพระพุทธองค์จะกำหนดให้คณะสงฆ์ทั้งหมดมีเวลาที่จะซ่อมแซมผ้าจีวรของตนเองให้เสร็จเรียบร้อยภายในเวลา ๑ เดือน เพราะหลังจากนั้นจะได้นำเวลาไปเผยแผ่ในพระธรรมและการปฏิบัติธรรมอันจะเป็นประโยชน์แก่คนหมู่มาก

สำหรับ "กาลทาน" อื่นๆ ทั่วไป พระพุทธทรงแสดงไว้ในกาลทานสูตร มีอีก ๕ อย่าง คือ

อาคันตุกะทาน ให้ทานแก่ผู้มาสู่ถิ่นของตนเช่น เมื่อมีผู้ที่ลำบากเพราะไม่คุ้นเคยในท้องถิ่นหากได้ให้ความช่วยเหลือไม่ว่าทางใดก็ถือเป็นกาลทานที่ดี คมิกะทาน คือให้ทานแก่ผู้ที่เตรียมตัวจะเดินทางไปยังที่ต่างๆ เช่น เมื่อมีผู้มาขอความช่วยเหลือในการเดินทางไปยังสถานที่อื่นที่เรารู้จักแต่เขาไม่รู้จักก็ถือเป็นกาลทานที่ดี ทุพภิกขะทาน คือการให้ทานในช่วงเวลาที่ข้าวยากหมากแพงหรือเศรษฐกิจตกต่ำหรือประสบภาวะอุบัติภัยทั้งหลาย สำหรับคนที่มีทรัพย์มากหรือเป็นพ่อค้าหากได้บริจาคหรือช่วยเหลือคนหมู่มากในเวลานี้ก็จัดได้ว่าเป็นการให้ทานในกาลทานที่เหมาะสม นวสัสสะทาน คือให้ทานเมื่อมีข้าวใหม่ๆ ก็นำมาทำทานก่อนหมายความว่าปรารถนาจะให้ผู้อื่นได้มีความสุขมากที่สุดโดยนำของใหม่ ๆ มาให้ก่อน และ นวผละทานให้ทานเมื่อมีผลไม้ออกใหม่ก็นำมาทำทานก่อน

ผู้ที่ให้ทานตามกาลอันควรแล้วย่อมส่งผลอานิสงส์ให้เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มากและย่อมเป็นผู้ที่มีความสุขมากคืออยากได้ในสิ่งใดเวลาที่ต้องการก็จะได้ในสิ่งนั้น

๔. ให้ทานด้วยจิตอนุเคราะห์ เช่น เมื่อเห็นคนตกทุกข์ได้ยากขาดแคลนปัจจัย ๔ ก็มีจิตอนุเคราะห์ช่วยเหลือโดยไม่หวังผลตอบแทน ผู้ที่ให้ทานด้วยจิตอนุเคราะห์แล้วย่อมยังผลอานิสงส์ให้เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มากและมีความสุข

๕. ให้ทานโดยไม่กระทบตนเองและผู้อื่น คือ การให้โดยไม่ทำลายคุณความดีของตนเองและผู้อื่น ไม่ผิดศีล ไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อนเพื่อถวายทาน เช่น ฆ่าสัตว์ทำอาหารเพื่อถวายพระ เพราะการให้ทานอย่างนี้ เป็นการทำลายคุณงามความดีของตนเอง อีกนัยหนึ่งคือไม่ทำทานด้วยการทำให้คนอื่นเดือดร้อนหมดกำลังใจ เกิดอาการกระทบกระเทือนใจ เช่น ทำบุญเพื่อข่มคนอื่น ดูถูกดูแคลนคนที่ทำน้อยกว่า เหล่านี้เป็นต้น

ผู้ที่ให้ทานโดยไม่กระทบตนเองและผู้อื่นย่อมได้รับผลบุญอานิสงส์ทำให้เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มากไม่มีภยันตรายจากที่ใดจะมากล้ำกรายหรือทำให้สูญเสียทรัพย์ได้ไม่ว่าจะเป็น ภัยจากไฟ จากน้ำ จากผู้มีอำนาจในบ้านเมือง จากโจรผู้ร้าย รวมทั้งจากคนไม่เป็นที่รักด้วย

ส่วนอาการแห่งการให้ที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกซึ่งเป็นอย่างสุดท้ายก็คือ "สัปปุริสทาน ๘ ประการ" อันได้แก่ การให้ทานด้วยของที่ สะอาด ๑ ให้ของที่ประณีต ๑ ให้ตามกาล ๑ ให้ของที่สมควร ๑ เลือกที่จะให้ ๑ ให้อย่างเนืองนิตย์ ๑ เมื่อให้แล้วจิตผ่องใส ๑ และให้แล้วดีใจ ๑

อาการที่ให้ทานและวัตถุที่ให้ทานมีความประณีต เช่น การให้ ข้าวและน้ำที่ สะอาดและมีความประณีตในการตั้งใจแสวงหาและทำมาให้ รวมถึงให้ตามกาลสมควร ให้อย่างเป็นประจำเนืองนิตย์ เลือกที่จะให้กับคนที่ดีหรือ ผู้ประพฤติพรหมจรรย์อย่างนักบวช บริจาคของหรือให้ไปมากแล้วก็ไม่รู้สึกเสียดาย นั้นย่อมส่งผลให้อานิสงส์แห่งทานนั้นเกิดแก่ผู้ให้อย่างสมบูรณ์

คือได้เกิดในภพภูมิที่เป็นสุข หากเกิดเป็นมนุษย์ก็เป็นผู้ที่มีทั้งทรัพย์มาก รูปร่างผิวพรรณหน้าตาดี มีบริวารที่ดี ต้องการในสิ่งใดก็จะได้ตามกาลเวลาที่เหมาะสม ได้แต่ของที่ดีและประณีตและไม่มีเหตุให้ต้องสูญเสียในทรัพย์ทั้งจาก โจรผู้ร้าย ผู้มีอำนาจหรือ อุบัติภัยใด ๆ ที่จะมาก่อให้เกิดความเสียหายได้เลย

ที่กล่าวมาทั้งหมดคือหลักและวิธีการสร้างบุญด้วยทานที่ให้ผลเร็วและแรงผลแห่งทานมีอานิสงส์มากโดยที่พระพุทธองค์กล่าวตรัสถึงอานิสงส์แห่งการให้ทานนั้นจะทำให้ผู้ที่ให้ได้รับผลบุญแห่งการทำทานปรากฏอยู่ในสีหสูตรว่า

"ผู้ให้ย่อมเป็นที่รักที่ชอบใจแก่คนเป็นอันมาก คนดีเป็นอันมากย่อมพอใจคบหาผู้ให้ทาน (หมายถึงจะได้กัลยาณมิตรมาเพิ่ม) มีชื่อเสียงอันดีงามของผู้ให้และยังผลให้ชื่อขจรขจายไป มีความกล้าหาญองอาจไม่เกื้อเขินในที่ชุมชน และเมื่อละจากโลกนี้ไปแล้วย่อมบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์"

จะเห็นได้ว่าการที่พระองค์กล่าวเช่นนี้ก็เป็นไปตามหลักกฎแห่งกรรมว่าทำดีย่อมได้ดีเพียงแต่ได้ผลต่างกาลเวลากัน คือ ๔ ประการแรกยังอานิสงส์ให้เกิดในภพชาติปัจจุบันและอย่างสุดท้ายส่งผลในภพชาติต่อไป

ธ. ธรรมรักษ์


6 December 2018

วัดนิคมสโมสร(บางคลี)