วิชาพุทธประวัติ ตอนที่ ๑

การศึกษาพุทธประวัติ คือการเรียนรู้ความเป็นไปของพระพุทธเจ้า ย่อมเป็นสิ่งสำคัญและมีประโยชน์มาก สำหรับพุทธศาสนิกชน

พุทธประวัติ
ข้อความเบื้องต้น
     การศึกษาพุทธประวัติ  คือการเรียนรู้ความเป็นไปของพระพุทธเจ้า  ย่อมเป็นสิ่งสำคัญและมีประโยชน์มาก  สำหรับพุทธศาสนิกชน  เพราะพุทธ
ประวัติเป็นเรื่องที่แสดงพระพุทธจรรยาของพระพุทธเจ้าให้ปรากฏ  ทั้งเป็นส่วนอัตตสมบัติและสัตตูปการสัมปทา  เป็นสิ่งสำคัญของผู้ปฏิบัติตามคำ
สอนของพระพุทธเจ้า  เท่ากับพงศาวดารย่อมเป็นสิ่งสำคัญของชาติคน  ที่จะให้รู้ได้ว่าชาติใดได้เป็นมาแล้วอย่างไร  เพราะพระองค์ทรงเป็นเยี่ยงอย่าง
อันดี  ทั้งอุบายวิธีและระเบียบดำเนินการในส่วนที่ทรงทำแก่พระองค์เองและแก่ผู้อื่น  ผู้ที่ได้ศึกษาก็จะเห็นตัวอย่างที่ดี  เป็นเหตุให้ทำชีวิตของตนให้
เป็นประโยชน์  ปรับปรุงความประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องตามคลองธรรม  เป็นเครื่องนำมาซึ่งผลที่มุ่งหมายในพระพุทธศาสนา  แม้จะไม่ได้ผลชั้นสูงสุด  
ก็เอาแต่เพียงชั้นต่ำ ๆ กลาง ๆ ไปก่อน  กล่าวคือเรียนรู้แล้วให้รู้จักหยิบยกน้อมนำเอามาใช้ในกิจการทางโลก  จะเป็นส่วนพระวิริยะหรือพระขันติก็ตาม  
ก็คงจะได้ประโยชน์มาก  ยิ่งได้ศึกษาให้ละเอียดก็จะยิ่งรู้สึกซาบซึ้งในพระพุทธคุณมากขึ้น  ศรัทธา  ปสาทะ  ความเชื่อความเลื่อมใสก็เจริญมากขึ้น  
เท่ากับระลึกถึงบรรพบุรุษผู้ได้ทำประโยชน์ไว้แก่วงศ์ตระกูล  และประเทศชาติของตน ๆ แล้วจะเห็นได้ว่าท่านเหล่านั้นมีบุญคุณแก่ตนอย่างไร  แล้วจะ
ได้มีแก่ใจบำเพ็ญความดีเจริญรอยตาม
     รวมความแล้วการเรียนพุทธประวัติย่อมได้คติ  ๓  ทาง  คือ
๑. ทางตำนาน  ให้สำเร็จผลคือทราบเรื่องของพระพุทธเจ้าว่าเป็นมาอย่างไร
๒. ทางอภินิหาร  ให้สำเร็จผลคือได้เห็นวิธีการเผยแพร่พระพุทธศาสนา  ที่พระองค์ทรงกระทำสำเร็จอย่างน่าอัศจรรย์และผู้ที่หนักในทางอภินิหาร  ก็
จะได้ศรัทธาปสาทะในพระพุทธานุภาพยิ่งขึ้น
๓. ทางธรรม ให้สำเร็จผลคือ  ได้หยั่งทราบข้อปฏิบัติและเหตุผลที่เป็นจริงโดยละเอียดแล้วปฏิบัติถูกต้อง
     ฉะนั้น  พุทธศาสนิกชน  นักเรียน  นักศึกษา  ควรกำหนดจดจำไว้ โดยสังเขป ดังต่อไปนี้

ปุริมกาล
ปริเฉทที่  ๑
ชมพูทวีปและประชาชน

๑.  ดินแดนที่เรียกว่า  ชมพูทวีป  ได้แก่ประเทศอินเดีย (สมัยก่อน)  (ปัจจุบันได้แก่ประเทศอินเดีย, เนปาล, ปากีสถาน, อัฟกานิสถาน, บังคลาเทศ,
ศรีลังกา) อยู่ทางทิศพายัพของประเทศไทย
๒.  ชมพูทวีปมีชน  ๒  ชาติ  อาศัยอยู่ต่างวาระกัน  คือ
     ๑.  ชาติมิลักขะ  อาศัยอยู่ก่อน
     ๒.  ชาติอริยกะ  อพยพข้ามภูเขาหิมาลัยมารุกไล่เจ้าของถิ่นเดิม  แล้วอาศัยอยู่ทีหลัง
๓.  ชมพูทวีปแบ่งออกเป็น  ๒  ส่วนใหญ่ ๆ คือ
     ๑.  มัชฌิมชนบท  หรือมัธยมประเทศ(ส่วนกลาง) เป็นที่อยู่ของพวกอริยกะ
     ๒.  ปัจจันตชนบท  หรือปัจจันตประเทศ(ส่วนปลายแดน)  เป็นที่อยู่ของพวกมิลักขะ
๔.  อาณาเขตของมัชฌิมชนบทนั้น  มีปรากฏในพระบาลีจัมมขันธกะ  ในมหาวรรคแห่งพระวินัยดังนี้
     ๑.  ทิศบูรพา  จด  มหาศาลนคร (ปัจจุบันคือเมืองเบงคอล)
     ๒.  ทิศอาคเนย์  จด  แม่น้ำสัลลวัตตี
     ๓.  ทิศทักษิน  จด  เสตกัณณิกคม(ปัจจุบันคือแคว้นเดกกัน)
     ๔.  ทิศปัจจิม  จด  ถูนคาม (ปัจจุบันคือเมืองบอมเบย์)
     ๕.  ทิศอุดร  จด  ภูเขาอุสีรธชะ (ปัจจุบันคือประเทศเนปาล)
๕.  มัชฌิมชนบทนั้น  เป็นถิ่นที่อุดมสมบูรณ์  เป็นที่ตั้งนครใหญ่ ๆ เป็นศูนย์กลางการปกครองและเป็นที่ประชุมนักปราชญ์  คณาจารย์เจ้าลัทธิต่าง ๆ 
๖.  ชมพูทวีปตามในอุโบสถสูตร  ติกนิบาตอังคุตตรนิกาย  แบ่งเป็น  ๑๖  แคว้น  คือ อังคะ   มคธะ   กาสี   โกสละ  วัชชี   มัลละ  เจตี  วังสะ  กุรุ  
ปัญจาละ  มัจฉะ  สุรเสนะ  อัสสกะ  อวันตี  คันธาระ  กัมโพชะ และระบุไว้ในสูตรอื่นอีก  ๕  แคว้น  คือ สักกะ  โกลิยะ  ภัคคะ  วิเทหะ  อังคุตตราปะ
๗.  การปกครองของแคว้นเหล่านี้ต่าง ๆ กันคือ
     ๑.  มีพระเจ้าแผ่นดินดำรงยศเป็นมหาราชบ้าง
     ๒.  มีพระเจ้าแผ่นดินดำรงยศเป็นเพียงราชาบ้าง
     ๓.  มีผู้ปกครองเป็นเพียงอธิบดีบ้าง  
     ๔.  ใช้อำนาจโดยสิทธิ์ขาดบ้าง
     ๕.  ใช้อำนาจโดยสามัคคีธรรมบ้าง
     ๖.  บางคราวเป็นรัฐอิสระ
     ๗.  บางคราวเป็นรัฐเสียอิสระ
๘.  ประชาชนในชมพูทวีปแบ่งออกเป็น  ๔  วรรณะ(พวก)  คือ
     ๑.  กษัตริย์  จำพวกเจ้ามีหน้าที่ปกครองบ้านเมือง
     ๒.  พราหมณ์  จำพวกเล่าเรียนมีหน้าที่ฝึกสอนและทำพิธี
     ๓.  แพศย์ จำพวกพลเรือนมีหน้าที่ประกอบอาชีพเช่นทำนา ค้าขายเป็นต้น
     ๔.  ศูทร  จำพวกคนงานมีหน้าที่รับจ้าง
๙.  ชนทั้ง  ๔  จำพวกนี้  พวกที่ ๑-๒ จัดเป็นชนชั้นสูง  ที่ ๓ เป็นชั้นสามัญ  ที่  ๔  เป็นชั้นต่ำ  พวกสูงถือตัวจัด  ไม่ยอมร่วมกินร่วมนอนกับพวกต่ำ  
หากบังเกิดมีร่วมกัน  ลูกที่ออกมาจัดเป็นอีกจำพวกหนึ่งเรียกว่า  จัณฑาล  ถือว่าเลวมาก
๑๐.  การศึกษาของคนในสมัยนั้นก็เป็นไปตามวรรณะนั้น ๆ คือ มีหน้าที่อย่างไรก็ศึกษาในเรื่องเกี่ยวกับหน้าที่นั้น
๑๑.  คนในสมัยนั้นสนใจวิชาธรรมมาก  จึงมีความเห็นขัดแย้งกันต่าง ๆ เช่น
๑.  เกี่ยวกับเรื่องสังสารวัฏ  ๒  พวก ใหญ่ ๆ คือ
     ๑.  เห็นว่าตายแล้วเกิด
     ๒.  เห็นว่าตายแล้วสูญ
๒.  เกี่ยวกับเรื่องสุขทุกข์  ๒  พวกใหญ่ ๆ คือ
     ๑.  สุขทุกข์เกิดจากเหตุ
     ๒.  สุขทุกข์ไม่เกิดจากเหตุ
๑๒.  คนในสมัยนั้นทั้ง  ๔  วรรณะ  ก่อนแต่พระพุทธเจ้าอุบัติก็ได้ถือศาสนาพราหมณ์  ถือว่าโลกธาตุทั้งปวงมีเทวดาสร้าง  จึงพากันเซ่นสรวงด้วยการ
บูชายัญและประพฤติตบะทรมานร่างกาย ต่าง ๆ 

ปริเฉทที่  ๒
สักกชนบท  และศากยวงศ์  โกลิยวงศ์

๑.  ตำนานสักกชนบทมีเรื่องย่อว่า  พระเจ้าโอกากราชในพระนครหนึ่งมีพระราชบุตร  ๔  ราชบุตรี  ๕  พระองค์  พอพระมเหสีองค์เก่าสิ้นพระชนม์  
ได้พระมเหสีใหม่ ครั้นพระมเหสีใหม่ได้มีพระโอรสอีก  ๑  พระองค์  พระราชทานราชสมบัติให้แก่พระโอรสองค์เล็กนั้น โปรดให้พระราชบุตร และพระ
ราชบุตรีทั้ง ๙ ไปสร้างพระนครใหม่ในดงไม้สักกะจึงได้ชื่อว่าสักกชนบทและดงไม้สักกะนั้นเป็นที่อยู่ของพวกกบิลดาบส จึงได้ตั้งชื่อนครใหม่ว่ากบิล
พัสดุ์
๒.  พระราชบุตร  พระราชบุตรี  ๘  พระองค์  สมสู่กันเอง ในนครกบิลพัสดุ์  จัดเป็นต้นวงศ์ศากยะ
๓.  พระเชฏฐภคินี  ได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้ากรุงเทวทหะ  จัดเป็นต้นวงศ์โกลิยะ
๔.  ศากยวงศ์  กับโกลิยวงศ์  สืบเชื้อสายลงมาโดยลำดับ  เท่าที่ปรากฏอยู่  มีดังนี้

สักกชนบท  และศากยวงศ์  โกลิยวงศ์

ศากยวงศ์
พระเจ้าชยเสนะ
มีพระราชบุตร และพระราชบุตรี รวม  ๒  พระองค์คือ
๑.  พระเจ้าสีหหนุ
๒.  พระนางเจ้ายโสธรา
    
พระเจ้าสีหหนุกับพระนางเจ้ากัญจนามีพระราชบุตรและพระราชบุตรี รวม  ๗  พระองค์ คือ
๑.  พระเจ้าสุทโธทนะ
๒.  เจ้าชายสุกโกทนะ
๓.  เจ้าชายอมิโตทนะ
๔.  เจ้าชายโธโตทนะ
๕.  เจ้าชายฆนิโตทนะ
๖.  เจ้าหญิงปมิตา
๗.  พระนางเจ้าอมิตา    

๑. พระเจ้าสุทโธทนะ  มีพระราชบุตร และพระราชบุตรี  ๓  พระองค์  ประสูติแต่พระนางเจ้ามายาเทวี  ๑  พระองค์คือ
๑.  เจ้าชายสิทธัตถะ 
และประสูติแต่พระนางเจ้าปชาบดีอีก  ๒  พระองค์คือ
๑.  เจ้าชายนันทะ
๒.  พระนางรูปนันทา

๒.  สุกโกทนะ  กับนางกาสีโคตมี  
      มีพระโอรส  ๑  พระองค์  คือ  ๑.  พระอานนท์

๓.  อมิโตทนะ  มีพระราชบุตร  และพระราชบุตรี  ๓  พระองค์  คือ
๑.  พระเจ้ามหานามะ
๒.  พระอนุรุทธะ
๓.  พระนางโรหินี    

๑.  เจ้าชายสิทธัตถะ กับ พระนางพิมพา 
มีพระโอรส  ๑  พระองค์  คือ  ๑.  ราหุลกุมาร

๒.  พระเจ้ามหานามะ กับ นางทาสี มีพระธิดา  ๑  พระองค์คือ  ๑.  พระนางวาสภขัตติยา
    
พระนางวาสภขัติยาได้เป็นพระอัครมเหสีของ
พระเจ้าปเสนทิโกศล ได้พระโอรสชื่อ พระเจ้าวิฑูฑภะ    

โกลิยวงศ์
ไม่ปรากฏพระนาม
พระเจ้าในโกลิยวงศ์ ไม่ปรากฏพระนาม มีพระราชบุตร และพระราชบุตรี  ๒  พระองค์ คือ
๑.  พระเจ้าอัญชนะ
๒.  พระนางเจ้ากัญจนา
        
พระเจ้าอัญชนะ กับพระนางเจ้ายโสธรา มีพระราชบุตรและพระราชบุตรี รวม  ๔  พระองค์ คือ
๑.  พระเจ้าสุปปพุทธะ
๒.  เจ้าชายฑัณฑปาณิ
๓.  พระนางเจ้ามายาเทวี
๔.  พระนางเจ้าปชาบดี(โคตมี)

พระเจ้าสุปปพุทธะ  กับ พระนางเจ้าอมิตา  มีพระราชบุตร และพระราชบุตรี  ๒  พระองค์  คือ
๑.  เจ้าชายเทวทัต
๒.  พระนางพิมพา หรือยโสธรา

ปริเฉทที่  ๓
พระศาสดาประสูติ

๑.  พระพุทธเจ้าของเราเป็นชนชาวชมพูทวีป หรือชาวเนปาล  เชื้อชาติอริยกะ  แปลว่า  ชาติที่เจริญ  คือเจริญด้วยความรู้ขนบธรรมเนียม  ศีลธรรม
และฤทธิ์อำนาจ
๒.  พระองค์เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ  และพระนางเจ้ามายาเทวี
๓.  พระองค์มีพระเจ้าสีหหนุเป็นพระเจ้าปู่  มีพระนางกัญจนาเป็นพระเจ้าย่า  มีพระเจ้าอัญชนะเป็นพระเจ้าตา  มีพระนางเจ้ายโสธราเป็นพระเจ้ายาย
๔.  พระองค์  ไม่มีพี่น้องร่วมท้องมารดากันเลย  แต่มีน้องต่างมารดากัน  ๒  พระองค์  คือ  พระนันทกุมาร  และพระนางรูปนันทากุมารี  ซึ่งประสูติแต่
พระนางเจ้าปชาบดีโคตมี
๕.  พระศาสดา  ได้เสด็จลงสู่พระครรภ์ของพระมารดา  เมื่อใกล้รุ่ง  วันพฤหัสบดี  ขึ้น  ๑๕  ค่ำเดือน  ๘  ปีระกา  บังเกิดแผ่นดินไหว  (เหตุแผ่นดินไหว
 ๘  ประการ  คือ  ๑.  ลมกำเริบ  ๒.  ท่านผู้มีฤทธิ์บันดาล  ๓.  พระโพธิสัตว์จุติลงสู่พระครรภ์มารดา  ๔.  พระโพธิสัตว์ประสูติ  ๕.  พระโพธิสัตว์ตรัสรู้  
๖.  พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมจักร  ๗.  พระพุทธเจ้าทรงปลงอายุสังขาร  ๘.  พระพุทธเจ้าปรินิพพาน)
๖.  พระองค์  ประสูติจากพระครรภ์มารดา  เมื่อเวลาสายใกล้เที่ยงวันศุกร์  ขึ้น  ๑๕  ค่ำ  เดือน  ๖  ปีจอ  ก่อนแต่  พ.ศ. ไป  ๘๐  ปี  
๗.  พระองค์ประสูติที่ ใต้ร่มไม้สาละในลุมพินีวัน  ซึ่งตั้งอยู่ริมเขตเมืองกบิลพัสดุ์ และริมเขตเมืองเทวทหะต่อกัน (ตำบลรุมมินเด แขวงเปชวาร์  
ประเทศเนปาล)
๘.  พอประสูติแล้ว  พระมารดาและพระญาติพากลับมาประทับอยู่ในพระราชวัง เมืองกบิลพัสดุ์  ตามพระดำรัสพระราชบิดา
๙.  ประสูติได้  ๓  วัน  มี  อสิตดาบส (กาฬเทวิลดาบส)  เข้าเยี่ยมถึงในพระราชวัง  เห็นลักษณะแห่งพระราชกุมาร  เกิดเลื่อมใสจึงหัวเราะแล้วร้องไห้  
แล้วก้มลงกราบพระกุมาร  พระเจ้าสุทโธทนะเห็นดังนั้นก็กราบตาม นับเป็นการกราบลูกครั้งแรก  ต่อจากนั้นอสิตดาบสได้ทำนายว่ามีคติเป็น  ๒  คือ
     ๑.  ถ้าไม่บวชจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิมีอำนาจมาก
     ๒.  ถ้าบวชจะได้เป็นพระพุทธเจ้าที่เป็นศาสดาเอกในโลก
ภายหลังได้แนะนำหลานชื่อนาลกะมาณพให้ออกบวชตามถ้าเจ้าชายสิทธัตถะออกบวช ต่อมาก็ได้ออกบวชและได้บรรลุพระอรหันต์เป็นพระเถระหนึ่ง
ในจำนวน  ๘๐  รูป  เมื่อสำเร็จแล้ว  ๗ เดือนก็ดับขันธ์ ด้วยอริยาบถยืนต่อหน้าพระพักตร์พระพุทธเจ้า
๑๐.  ประสูติแล้ว  ๕  วัน  พราหมณ์  ๑๐๘  คน  มารับประทานอาหารกันแล้ว  จึงขนานนามให้แก่พระกุมารว่า  สิทธัตถะ  แปลว่า  ผู้มีความต้องการ
สำเร็จ และคัดเลือกพราหมณ์  ๘  คนให้มาทำนายลักษณะ  ๗  คนทำนายคติว่าเป็น  ๒  อย่างเหมือนกับอสิตดาบสทำนาย  แต่โกณฑัญ
ญะพราหมณ์ทำนายเป็นหนึ่งเดียวว่าจะต้องออกบวชและได้เป็นศาสดาเอกของโลก
๑๑.  ประสูติแล้วต่อมา  ๗  วัน  พระมารดาสิ้นพระชนม์  ได้รับการชุบเลี้ยงจากพระนางเจ้าปชาบดีต่อมา
๑๒.  เจริญวัยขึ้นราว  ๗  ขวบ  พระบิดาให้คนขุดสระปลูกบัวไว้  ๓  สระ  สำหรับให้พระกุมารทรงเล่นสำราญ  อยู่มาวันหนึ่งเป็นวันพระราชพิธีวัปปม
งคลแรกนาขวัญ  พระเจ้าสุทโธทนะเสด็จไปทรงแรกนาขวัญ  ได้โปรดเกล้าให้เชิญพระโอรสไปด้วย  พอถึงสถานที่แรกนาขวัญแล้วก็โปรดให้จัดร่ม
ไม้หว้าเป็นที่ประทับของพระโอรสพอถึงเวลาไถแรกนาขวัญ  พวกพี่เลี้ยงหลีกออกไปดูพิธีกันหมด  ปล่อยให้พระโอรสอยู่ตามลำพัง เมื่ออยู่ลำพังเงียบ
ๆ องค์เดียวก็นั่งขัดสมาธิเจริญอานาปานสติกัมมัฏฐาน ยังปฐมฌานให้บังเกิด  วันนั้นพระอาทิตย์บ่ายคล้อยไปแล้วแต่เงาแห่งต้นหว้าที่พระโอรสประทับ
อยู่กลับอยู่ตรงไม่คล้อยตามตะวันเป็นปาฏิหารย์  พระเจ้าสุทโธทนะมาเห็นเหตุการณ์อัศจรรย์เช่นนั้นก็ก้มลงกราบ นับว่าเป็นการกราบครั้งที่  ๒  ต่อมา
ได้ทรงนำพระกุมารไปให้ศึกษาศิลปวิทยา  ในสำนักครูชื่อ  วิศวามิตร  พระกุมารเรียนจบความรู้ของครูโดยไม่ช้าเหมือนเด็กอื่น ๆ
๑๓.  พระชนมายุ  ๑๖  ปี  พระบิดาให้คนสร้างปราสาทขึ้น  ๓  หลัง  แล้วให้พระสิทธัตถะราชโอรสอภิเษก (แต่งงาน) กับพระนางพิมพา  ให้อยู่ใน
ปราสาททั้ง  ๓  หลังนั้น  ตามฤดูหนาว  ฤดูร้อน  ฤดูฝน  เป็นลำดับ
๑๔.  พระชนมายุ  ๒๙  ปี  ได้พระโอรส  ๑  พระองค์  ทรงพระนามว่า  ราหุล  แปลว่า  บ่วง  หรือห่วง

สหชาติ  ๗
     ในวันที่พระมหาบุรุษประสูติได้มีมนุษย์และสัตว์กับสิ่งซึ่งเป็นสหชาติคือเกิดร่วมวันเดียวเวลาเดียวกันถึง ๗ ประการ คือ
๑. พระนางพิมพา
๒. พระอานนท์
๓. ฉันนะอำมาตย์
๔. กาฬุทายีอำมาตย์
๕. ม้ากัณฐกะ
๖. ต้นศรีมหาโพธิ์
๗. ขุมทรัพย์ทั้ง  ๔

ถอดใจความแห่งอภินิหารในเวลาประสูติ
๑.  ครั้งเข้าสู่พระครรภ์ปรากฏแก่พระมารดาในสุบิน (ความฝัน)  ดุจพระยาช้างเผือก  แสดงถึงการอุบัติขึ้นแห่งบุคคลสำคัญคือพระมหาบุรุษของโลก  
ให้เกิดความยินดีทั่วหน้า
๒.  เสด็จอยู่ในพระครรภ์  ไม่แปดเปื้อนมลทินทรงนั่งขัดสมาธิ  เสด็จออกขณะพระมารดาประทับยืน  แสดงถึงการดำรงฆราวาส ไม่หลงเพลิดเพลินใน
กามคุณ  ได้ทรงทำกิจที่ควรทำ  มีพระเกียรติปรากฏ  เสด็จออกบรรพชาด้วยปรารถนาอันดี
๓.  พอประสูติแล้วมีเทวบุตรมารับ  ท่อน้ำร้อน-เย็นตกจากอากาศสนานพระกาย ได้แก่อาฬารดาบสและอุทกดาบส  หรือนักบวชอื่นรับไว้ในสำนัก  
ทุกรกิริยาดุจท่อน้ำร้อน  วิริยะทางจิตดุจท่อน้ำเย็น  ชำระพระสันดานให้สิ้นสงสัย
๔.  พอประสูติแล้วทรงดำเนิน  ๗  ก้าว  ได้แก่ทรงแผ่พระศาสนาได้  ๗  ชนบท  คือ   ๑.  กาสีกับโกศล  ๒.  มคธกับอังคะ  ๓.  สักกะ  ๔.  วัชชี  ๕.  
มัลละ  ๖.  วังสะ  ๗.  กุรุ
๕.  การเปล่งอาสภิวาจาความว่า “ในโลกนี้ เราเป็นหนึ่ง เราเป็นยอด เราเป็นเลิศประเสริฐสุด  การเกิดครั้งนี้ของเรา เป็นครั้งสุดท้าย ภพใหม่ต่อไปอีก
ไม่มีสำหรับเรา”  คือคำประกาศพระองค์ว่าเป็นเอกในโลกนั้น  ได้แก่ตรัสพระธรรมเทศนาที่คนฟังอาจหยั่งรู้ว่า  พระองค์เป็นยอดปราชญ์ศาสดาเอกใน
โลก

ปริเฉทที่  ๔
เสด็จออกบรรพชา

๑.  พระองค์เสด็จออกทรงผนวชในปีที่มีพระชนมายุ  ๒๙  ปี  นั้นเอง
๒.  มูลเหตุที่ทรงออกผนวช  ในอรรถกถามหาปทานสูตร  กล่าวว่า  ได้ทอดพระเนตรเห็นเทวทูต  ๔  คือ  คนแก่  คนเจ็บ  คนตาย  และสมณะ  อัน
เทวดาแสร้งนิมิตไว้ในระหว่างทาง  และในปาสราสิสูตร มัชฌิมนิกายแสดงว่า  ทรงปรารภความแก่  ความเจ็บ  ความตาย อันครอบงำทุกคน  ไม่ล่วง
พ้นไปได้  แล้วจึงทรงดำริว่า  เราควรแสวงหาเครื่องแก้ความแก่  เป็นต้น  แต่ถ้าอยู่ในพระราชวัง  โดยไม่บวช  ก็คงมีแต่เรื่องเศร้าหมองมัวเมา  จึง
ตกลงพระทัยออกผนวช
๓.  พระองค์หนีออกผนวชตอนกลางคืน  ทรงม้าชื่อ กัณฐกะ  ออกไป  มีนายฉันนะ  ตามเสด็จไปด้วย  เพื่อนำม้ากลับ  นี้กล่าวตามพระอรรถกถาจารย์  
ส่วนพระมัชฌิมภาณกาจารย์  กล่าวว่า  เสด็จออกซึ่งหน้า อีกนัยหนึ่งว่าเสด็จออกสรงน้ำในชลาลัยศักดิ์สิทธิ์แล้วไม่เสด็จกลับ
๔.  พระองค์ทรงผนวชที่ฝั่งแม่น้ำอโนมา  ป่าอนุปิยอัมพวัน  แขวงมัลลชนบท
๕.  ผ้ากาสายะและบาตร  พระอรรถกถาจารย์ว่า  ฆฏิการพรหม  นำมาถวาย  สมเด็จ ฯ ทรงสันนิษฐานว่า  น่าจะทรงได้ในสำนักบรรพชิตผู้ได้สมาบัติ  
หรือได้มาด้วยการตระเตรียม

ปริเฉทที่  ๕
ตรัสรู้

๑.  ทรงบรรพชาแล้วประทับอยู่ที่อนุปิยอัมพวัน  ๗  วัน  เสด็จผ่านกรุงราชคฤห์  พระเจ้าพิมพิสาร  พระเจ้าแผ่นดินมคธ  ครั้งยังเป็นพระกุมาร  ตรัส
ชวนให้อยู่จะพระราชทานอิสริยยศยกย่อง  พระองค์ไม่ทรงรับ  และแสดงว่ามุ่งจะแสวงหาพระสัมมาสัมโพธิญาณ
๒.  พระเจ้าพิมพิสารขอปฏิญญาว่า  ตรัสรู้แล้วขอให้เสด็จมาโปรด
๓.  ได้ไปศึกษาอยู่ในสำนักอาจารย์ทั้ง  ๒  คือ
๑.  อาฬารดาบส  กาลามโคตร(ได้สมาบัติ  ๗)
๒.  อุทกดาบส  รามบุตร  (ได้สมาบัติ  ๘)
เรียนจบความรู้ของอาจารย์ได้สมาบัติ  ๘  คือ
ก. รูปฌาน  ๔  มี ปฐมฌาน  ทุติยฌาน   ตติยฌาน   จตุตถฌาน
ข. อรูปฌาน  ๔  มี อากาสานัญจายตนะ  วิญญาณัญจายตนะ  อากิญจัญญายตนะ  เนวสัญญานาสัญญายตนะ
๔.  เสด็จออกจากสำนักอาจารย์  ไปทำความเพียร  เพื่อจะได้ตรัสรู้  อยู่ที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม  โดยมีปัญจวัคคีย์ ฤาษี ๕ ตน คือโกณฑัญญะ  
วัปปะ  ภัททิยะ  มหานามะ  อัสสชิ    คอยปรนนิบัติรับใช้  พระสิทธัตถะบำเพ็ญความเพียรด้วยทุกรกิริยา  ๓  อย่างคือ
     ๑.  กดฟันกับฟัน  กดลิ้นกับเพดาน
     ๒.  กลั้นลมหายใจ
     ๓.  อดอาหาร  จนพระรูปผอมมาก  ก็ยังไม่ได้ตรัสรู้
๕.  อุปมา  ๓  ข้อ  ปรากฏแก่พระองค์ว่า
     ๑.  ผู้มีกายและจิตยังไม่ออกจากกาม  ตรัสรู้ไม่ได้  เปรียบเหมือนไม้สดแช่น้ำ  สีไม่ติดไฟ
     ๒.  ผู้มีกายออกแล้ว  แต่จิตยังไม่ออกจากกาม  ตรัสรู้ไม่ได้  เหมือนไม้สดตั้งบนบก  สีไม่ติดไฟ
     ๓.  ผู้มีกายและจิตออกจากกามแล้ว  ควรตรัสรู้ได้  เหมือนไม้แห้งตั้งบนบก  อาจสีให้เกิดไฟได้
๖.  นับจากวันผนวชมาได้  ๖  ปี  พระองค์ได้เสวยข้าวมธุปายาส  ของนางสุชาดา  รับหญ้าคาของ  นายโสตถิยะ  ลาดต่างบัลลังก์ที่โคนโพธิ์  ประทับ
นั่งตั้งพระทัยอธิษฐานว่า  ยังไม่บรรลุโพธิญาณเพียงใดจักไม่ลุกขึ้นเพียงนั้น  แม้เนื้อเลือดแห้งไปเหลือหนังหุ้มกระดูกก็ตาม
๗.  ขณะนั้นมารคือกิเลสเกิดขึ้นในพระทัย  พระองค์ทรงผจญมารด้วยพระบารมี  ๑๐  ทัศ  คือ  ๑.  ทาน  ๒.  ศีล  ๓.  เนกขัมมะ  ๔.  ปัญญา  ๕.  
วิริยะ  ๖.  ขันติ  ๗.  สัจจะ  ๘.  อธิษฐาน  ๙.  เมตตา  ๑๐.  อุเบกขา  ชนะแล้ว  บรรลุญาณ  ๓  คือ
     ๑.  บุพเพนิวาสานุสติณาณ  (ระลึกชาติได้)
     ๒.  ทิพพจักขุญาณ  (มีตาทิพย์)
     ๓.  อาสวักขยญาณ  (หมดกิเลส)
ก็ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า  เมื่อวันพุธ ขึ้น  ๑๕  ค่ำ  เดือน  ๖  ก่อนแต่ พ.ศ. ๔๕  ปี  ที่ต้นโพธิ์(อัสสัตถพฤกษ์)  ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา
๘.  คำว่า  ตรัสรู้  นั้นคือรู้ของจริง  ๔  อย่างคือ
๑.  รู้ทุกข์  คือความไม่สบายกายไม่สบายใจ
๒.  รู้เหตุเกิดทุกข์  คือความอยาก
๓.  รู้ความดับทุกข์  คือหมดความอยาก
๔.  รู้มรรค  คือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
๙.  ชื่อเดิมของพระองค์ว่า  สิทธัตถะ  แต่พอตรัสรู้ของจริงทั้ง  ๔  นี้แล้ว  จึงได้พระนามว่า  พระสัมมาสัมพุทธเจ้า  แปลว่า  ผู้ตรัสรู้ดีถูกต้องด้วยตนเอง
๑๐.  ครูวิศวามิตรก็ดี  อาฬารดาบสก็ดี  และอุทกดาบสก็ดี  ไม่ได้สอนของจริงทั้ง  ๔  อย่างนี้เลย  ของจริงนี้  พระองค์ตรัสรู้เอาเอง  เพราะฉะนั้น  จึง
ได้พระนามว่า  พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ปฐมโพธิกาล
ปริเฉทที่  ๖  ปฐมเทศนา  และปฐมสาวก

๑.  ครั้นตรัสรู้แล้ว  ได้ประทับในที่ ๗ แห่ง ๆ ละ ๗ วัน คือ
     สัปดาห์ที่ ๑.  ที่ต้นโพธิ์ (อัสสัตถพฤกษ์) เป็นสถานที่ตรัสรู้นั้นเอง  เสวยวิมุตติสุข พิจารณาปฏิจจสมุปบาท  เปล่งอุทาน ๓ ข้อ ใน ๓ ยามแห่งราตรี
     สัปดาห์ที่ ๒. ที่อนิมิสเจดีย์  อยู่ทางทิศอีสาน(ตะวันออกเฉียงเหนือ)ของต้นโพธิ์  เสด็จยืนจ้องดูต้นโพธิ์  ไม่กระพริบพระเนตร
     สัปดาห์ที่ ๓. ที่รัตนจงกรมเจดีย์  อยู่ระหว่างต้นโพธิ์ กับ อนิมิสเจดีย์  เสด็จจงกรมในที่ซึ่งนิรมิตขึ้น
     สัปดาห์ที่ ๔. ที่เรือนแก้วรัตนฆรเจดีย์  อยู่ทางทิศพายัพ(ตะวันตกเฉียงเหนือ)ของต้นโพธิ์  ทรงพิจารณาอภิธัมมปิฎกในเรือนแก้ว  ซึ่งเทวดานิรมิต
ขึ้น
     สัปดาห์ที่ ๕. ที่ต้นไทร (อชปาลนิโครธ)  อยู่ทิศบูรพา(ตะวันออก)ของต้นโพธิ์  เสวยวิมุตติสุข  มีพราหมณ์  หุหุชาติ  มาทูลถามถึงพราหมณ์  และ
ธรรมที่ทำบุคคลให้เป็นพราหมณ์
     สัปดาห์ที่ ๖. ที่ต้นจิก (มุจจลินท์)  อยู่ทิศอาคเนย์(ตะวันออกเฉียงใต้)ของต้นโพธิ์  เสวยวิมุตติสุข  เปล่งอุทานว่า  ความสงัดเป็นสุขของบุคคลผู้มี
ธรรมได้สดับแล้วเป็นต้น  มีฝนตกพรำ  มีพระยานาคชื่อมุจจลินท์  เข้ามาวงขนด ๗ รอบ แผ่พังพานปกพระองค์
     สัปดาห์ที่ ๗. ที่ต้นเกต (ราชายตนะ) อยู่ทิศทักษิน(ใต้)ของต้นโพธิ์ ได้มีนายพาณิช คือตปุสสะกับภัลลิกะ  ถวายข้าวสัตตุก้อน  สัตตุผง  แก่
พระองค์  เป็นปฐมบิณฑบาตหลังจากตรัสรู้  แล้วแสดงตนเป็นอุบาสก ถึงพระพุทธ กับพระธรรมก่อนใคร ๆ ในโลก (เทฺววาจิกอุบาสก)
๒.  เสด็จจากไม้เกตกลับไปร่มไม้ไทรอีก  ทรงพิจารณาเห็นว่าธรรมนี้ลึกซึ้ง  ยากที่ผู้ยินดีในกามคุณจะรู้ตามได้  แต่ผู้มีกิเลสน้อยอาจรู้ได้  เพราะคน
ทั้งหลายเปรียบด้วยดอกบัว  ๔  เหล่า  คือ
๑.ผู้มีอินทรีย์แก่กล้าอาจรู้ธรรมได้ฉับพลัน  เปรียบเหมือนดอกบัวจักบานในวันนี้(อุคฆฏิตัญญู)
๒.ผู้มีอินทรีย์ปานกลาง  เปรียบเหมือนกับดอกบัวจักบานในวันพรุ่งนี้(วิปจิตัญญู)
๓.ผู้มีอินทรีย์อ่อน  เปรียบเหมือนดอกบัวจักบานในวันต่อไป(เนยยะ)
๔.คนอาภัพ กิเลสหนาแน่นไม่อาจรู้ธรรมเลยเปรียบเหมือนดอกบัวที่เป็นเหยื่อของปลาและเต่า(ปทปรมะ) จึงทรงตั้งพระหฤทัยเพื่อแสดงธรรม  และตั้ง
ปณิธานเพื่อดำรงพระชนม์อยู่จนพระศาสนาแพร่หลายถาวร
๓.  ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๘ เสด็จไปพาราณสี เจอะอุปกาชีวก  ระหว่างแม่น้ำคยากับต้นศรีมหาโพธิ์ต่อกัน  อุปกาชีวกทูลถามถึงศาสดา พระองค์ตอบว่า  
พระองค์เป็นผู้ตรัสรู้เอง  ไม่มีใครเป็นครูสอน  อุปกาชีวก  ไม่เชื่อสั่นศรีษะแล้วหลีกไป  พระองค์จึงเสด็จไปป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
๔.  วันขึ้น  ๑๕  ค่ำ เดือน  ๘  ปีที่ตรัสรู้นั้นเอง  ได้ทรงแสดงธรรมชื่อว่า  ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร  โปรดปัญจวัคคีย์  ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน  แขวง
เมืองพาราณสี
๕.  ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร  อันนับเป็นปฐมเทศนา  มีใจความเป็น  ๕  ตอนคือ
     ๑.ทรงชี้ทางผิด(สุดโต่ง)  ๒  อย่าง  อันได้แก่ความหมกมุ่นในกาม  และการทรมานตนให้ลำบาก  ว่าเป็นทางไม่ควรเสพ  แล้วทรงชี้ทางถูก
(มัชฌิมาปฏิปทา  คืออริยมรรคมีองค์ ๘)  ว่าเป็นทางแห่งพระนิพพาน
     ๒.ทรงชี้ความจริงแท้ (อริยสัจ)  ๔ อย่าง คือ ทุกข์  สมุทัย  นิโรธ  มรรค
     ๓.ทรงยืนยันว่าเป็นพระพุทธะ  เพราะทรงรู้จักตัวความจริง  หน้าที่เกี่ยวกับความจริง และได้ทรงทำกิจที่เกี่ยวกับความจริงเสร็จแล้ว
     ๔.ทรงแสดงความพ้นวิเศษ  สิ้นชาติสิ้นภพ  อันเป็นผลของการรู้เห็นความจริงแท้นั้น
     ๕.ผลของการแสดงพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร  พระโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมว่า  สิ่งใดมีความเกิดเป็นธรรมดา  สิ่งนั้นทั้งหมด  มีความดับ
เป็นธรรมดา(เป็นพระโสดาบัน)  แล้วขอบวชได้เป็นพระเอหิภิกขุสงฆ์  สาวกโสดาบันองค์แรกในโลก โดยพระศาสดาตรัสพระวาจาว่า  “ท่านจงเป็น
ภิกษุมาเถิด  ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว  ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อถึงที่สุดแห่งทุกข์เถิด”
๖.  อยู่มาถึงวันแรม  ๕  ค่ำ เดือน  ๘  พระองค์ทรงแสดงธรรมชื่ออนัตตลักขณสูตร  โปรดปัญจวัคคีย์  มีใจความโดยย่อเป็น  ๕  ตอนคือ
     ๑.ทรงแสดงว่าเบญจขันธ์มิใช่ตัวตน  เป็นไปเพื่อความเจ็บป่วย  บังคับไม่ได้
     ๒.ทรงตั้งปัญหาให้พระปัญจวัคคีย์ตอบเป็นข้อ ๆ จนได้ความแน่นอนว่า  เบญจขันธ์ไม่เที่ยง  เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา  ไม่ควรลง
ความเห็นว่าเบญจขันธ์เป็นของเรา  เราเป็นเบญจขันธ์  เบญจขันธ์เป็นตัวตนของเรา
     ๓.ทรงเน้นเป็นการเตือนให้เบญจวัคคีย์ลงความเห็นด้วยปัญญาชอบตามเป็นจริงว่า  เบญจขันธ์ทั้งหมดคือที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน  ภายใน ภาย
นอก หยาบ ละเอียด เลว ประณีต ไกลหรือใกล้ก็ตาม  ไม่ใช่ของเรา  เราไม่เป็นเบญจขันธ์ ๆ ไม่เป็นตัวตนของเรา
     ๔.ทรงสรุปผลของการปฏิบัติว่า  พระอริยสาวกเมื่อลงความเห็นอย่างนี้แล้ว  ย่อมเบื่อหน่ายในเบญจขันธ์  เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด  เพราะ
คลายกำหนัดจิตจึงหลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่น สิ้นชาติ จบพรหมจรรย์ เสร็จกิจ
     ๕.ผลของการแสดงอนัตตลักขณสูตร  พระปัญจวัคคีย์ สำเร็จพระอรหันต์
๗.  ครั้งนั้นมีพระอรหันต์ในโลก  ๖  องค์  คือพระพุทธเจ้า  กับพระสาวกอีก  ๕  องค์


26 July 2018

วัดนิคมสโมสร(บางคลี)