วิชาเบญจศีล เบญจธรรม

ศีลหมายถึง ข้อปฏิบัติสำหรับควบคุมกายและวาจาให้เรียบร้อยดีงาม ปราศจากโทษอันเป็นความสุจริตทางกายวาจาและอาชีพการวานที่ทำ

เบญจศีล  เบญจธรรม
เบญจศีล
     ศีลหมายถึง  ข้อปฏิบัติสำหรับควบคุมกายและวาจาให้เรียบร้อยดีงาม  ปราศจากโทษอันเป็นความสุจริตทางกายวาจาและอาชีพการวานที่ทำ  ศีล
จึงเป็นหลักปฏิบัติขั้นพื้นฐานในการละเว้นจากความชั่วของมนุษย์  ผู้มีศีลย่อมเป็นที่รักที่ชอบใจของผู้ที่พบเห็น  เพราะคนที่มีศีลเป็นผู้เว้นจากความชั่ว  
ไม่เป็นอันตรายไม่มีโทษแก่ใคร  มีกายวาจาอันสงบแล้ว  ไม่ทำการอันเป็นการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น  ในทางตรงกันข้าม  ถ้าทุกคนต้องก็เป็นคน
ที่ไม่มีศีล  ประพฤติตามแต่ความต้องการที่อยากจะทำ  อยากจะแสดงออก  ไม่พอใจใครก็เข้าทำร้ายร่างกายชกต่อย  ฆ่าฟันกัน  พบเจอทรัพย์สิน
ของใครก็ขโมยเอา  แย่งชิงเอา  หรือปล้นฆ่าเจ้าทรัพย์เอา  หรือทำงานราชการก็ยักยอกเอาของหลวงมาเป็นของตนเอง  เจอผัวใครเมียใครไม่เลือก  
ได้โอกาสก็ลักลอบเล่นชู้หรือฉุดไปทำปู้ยี่ปู้ยำตามความต้องการ  ต่างคนต่างไม่มีความสัตย์จริงต่อกัน  ไว้ใจกันไม่ได้  บางพวกทำร้ายผู้อื่นยังไม่แล้ว  
หันกลับมาทำร้ายตนเองด้วยการดื่มเหล้า  กินยาม้า  ฉีดเฮโรอีน  ผงขาว  ดมกาว  ทินเนอร์เป็นต้น  ทำตนให้ปราศจากสติ  ตั้งอยู่ในความประมาท  
เมื่อเป็นเช่นนี้  สังคมจะเต็มไปด้วยความวุ่นวายยุ่งเหยิง  ทุกคนไม่ไว้ใจกันและกัน  อยู่ด้วยความหวาดระแวง  เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม
 นักปราชญ์ท่านจึงบัญญัติข้อกติกาของสังคมขึ้น  เพื่อให้คนประพฤติร่วมกัน  เพื่อความสงบร่มเย็นของสังคมนั้น ๆ เอง  ข้อกติกาดังกล่าวนั้น  เรียกว่า  
เบญจศีล  หรือ  ศีล  ๕  หรือศีลขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
     ๑.ปาณาติปาตา  เวรมณี
     ๒.อทินนาทานา  เวรมณี
     ๓.กาเมสุ  มิจฉาจารา  เวรมณี
     ๔.มุสาวาทา  เวรมณี
     ๕.สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา  เวรมณี

การล่วงละเมิดศีลนั้น  มีหลายประเภทหลาวิธีการ  ในแต่ละอย่างซึ่งถือว่าผิดได้นั้น  ท่านเพ่งดูเจตนาเป็นหลัก  ซึ่งศีลแต่ละสิกขาบท มีอาการที่จัดว่าผิด
 แต่ละข้อดังนี้
๑.ศีลสิกขาบทที่  ๑  มีวิธีการที่ผิดเป็น  ๓  ประการคือ
     ๑.๑  การฆ่าให้ตาย
     ๑.๒  การทำร้ายร่างกายให้ได้รับบาดเจ็บ
     ๑.๓  การทรมานหรือทรกรรมให้ลำบาก  เช่นไม่ให้กินน้ำ  ไม่ให้กินอาหาร  หรือใช้งานหนัก ดังนี้เป็นต้น

๒.ศีลสิกขาบทที่  ๒  มีวิธีการที่ผิดเป็น  ๓  ประการคือ
     ๒.๑  ทำโจรกรรม  เช่นลักขโมย  ปล้นชิงทรัพย์  เป็นต้น
     ๒.๒  อนุโลมโจรกรรม  เลี้ยงชีพคล้ายโจร  เช่นประพฤติทุจริตคอร์รับชั่นเป็นต้น
     ๒.๓  กิริยาเป็นฉายาโจรกรรม  ประพฤติน่าสงสัย  มีการประพฤติผิดส่อไปในทางไม่สุจริต  เป็นทางที่ทำโจรกรรมได้ง่าย  ไม่เป็นที่ไว้วางใจของ
คนทั่วไป

๓.ศีลสิกขาบทที่  ๓  มีวิธีการประพฤติที่ผิดอย่างเดียวคือ  ประพฤติผิดในกามทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง  ในชายและหญิงอื่นนอกเหนือจากสามีภรรยา
ตนเอง

๔.ศีลสิกขาบทที่  ๔  มีวิธีการประพฤติที่ผิด  ๓  ประการ  คือ
     ๔.๑  พูดมุสา  กล่าวเท็จ
     ๔.๒  อนุโลมมุสา  กล่าวคำที่ถือว่าเป็นเท็จได้  เช่นพูดแทงให้เจ็บใจ  พูดสับปลับ  พูดส่อเสียด  พูดยุยงให้เขาแตกกันเป็นต้น
     ๔.๓  ปฏิสสวะ  รับคำแล้วแต่ไม่ทำตามรับ  คือผู้รับคำสัญญาว่าอย่างไร  ตกลงจะทำตามที่ได้สัญญาไว้  แต่ภายหลังกลับไม่ทำตามที่ได้สัญญาไว้
๕.ศีลสิกขาบทที่  ๕  มีวิธีการประพฤติที่ผิด  ๒  ประการ  คือ
     ๕.๑  ดื่มน้ำเมา  คือเหล้าและเบียร์
     ๕.๒  เสพฝิ่น  กัญชา  ยาม้า  เฮโรอีน  ผงขาว  ดมกาว  ทินเนอร์  เป็นต้น  ประเภทสิ่งเสพติดที่ทำลายประสาทให้มึนงงเป็นที่ตั้งของความประมาท

องค์ของศีล
     ผู้ประพฤติธรรมรักษาศีลด้วยจิตบริสุทธิ์  ต้องการให้ศีลของตนเองบริสุทธิ์อย่างแท้จริงนั้นควรทราบองค์ของศีลแต่ละข้อให้ถูกต้องก่อนว่าการ
ประพฤติเช่นไร  จึงถือว่าศีลขาด  เช่นไรถือว่าไม่ขาด  เพื่อการปฏิบัติต่อศีลแต่ละข้อให้ถูกต้อง
อย่างไรก็ตาม  บางครั้งการประพฤติด้วยความพลั้งเผลอ  ถึงแม้ศีลข้อนั้นจะไม่ขาดแต่ก็อาจจะทำให้ด่างพร้อยได้  การที่ศีลจะขาดหรือไม่  ขึ้นอยู่กับ
การกระทำล่วงละเมิดครบองค์ของศีลแต่ละข้อนั้นอย่างไร  ถ้าทำครบองค์ทั้งหมดก็ทำให้ศีลข้อนั้นขาด  แต่ถ้าไม่ครบองค์ทั้งหมดก็ทำให้ศีลข้อนั้น
ด่างพร้อยได้  ซึ่งศีลแต่ละข้อมีองค์ของศีลแต่ละข้อดังนี้

๑.ศีลข้อ  ๑  ปาณาติบาต  มีองค์  ๕  ประการคือ
     (๑)สัตว์มีชีวิต
     (๒)รู้ว่าสัตว์มีชีวิต
     (๓)มีจิตคิดจะฆ่า
     (๔)เพียรพยายามฆ่า
     (๕)สัตว์ตายด้วยความเพียรนั้น

๒.ศีลข้อ  ๒  อทินนาทาน  มีองค์  ๕  ประการ
     (๑)วัตถุมีเจ้าของหวงแหน
     (๒)รู้อยู่ว่าเจ้าของหวงแหน
     (๓)มีจิตคิดจะลัก
     (๔)เพียรเพื่อจะลัก
     (๕)ลักของได้ด้วยความเพียรนั้น

๓.ศีลข้อที่  ๓  กาเมสุมิจฉาจาร  มีองค์  ๔  ประการคือ
     (๑)วัตถุที่ไม่ควรประพฤติล่วง (ชายหรือหญิง)
     (๒)มีจิตคิดจะเสพ
     (๓)พยายามเสพ
     (๔)ทำอวัยวะสืบพันธุ์ให้ถึงกัน

๔.ศีลข้อ  ๔  มุสาวาท  มีองค์  ๔  ประการคือ
     (๑)เรื่องที่ไม่จริง
     (๒)มีเจตนาจะพูดให้ผิดให้คลาดเคลื่อน
     (๓)พยายามพูดออกไป
     (๔)ผู้อื่นเข้าใจเนื้อความที่พูดนั้น

๕.ศีลข้อ  ๕  สุราเมรัย  มีองค์  ๔  ประการคือ
     (๑)สิ่งนั้นเป็นของเมา
     (๒)มีจิตใคร่จะดื่ม
     (๓)ทำความพยายามดื่ม
     (๔)ดื่มให้ไหลล่วงลำคอเข้าไป

วิรัต  หรือการงดเว้น
การถือศีล  ไม่ล่วงละเมิด  ของผู้สมาทานรักษาศีลนั้น  ท่านจำแนกอาการที่เว้นของคนแต่ละคนที่รักษาศีลในการงดเว้นต่าง ๆ กัน  ตามแต่ชั้น
ภูมิความสามารถของผู้ปฏิบัติไว้  ๓  ลักษณะ  ดังนี้
     ๑.สัมปัตตวิรัติ  การเว้นไม่ล่วงละเมิดได้เฉพาะหน้า  เช่น พบ ของที่อาจจะขโมยได้  แต่ไม่ทำ  หรือมีผู้นำสุรามาให้ดื่ม  แต่งดได้ไม่ดื่มดังนี้เป็นต้น
     ๒.สมาทานวิรัติ  การงดเว้นด้วยถือเป็นกิจวัตรของตนเองเลย  ด้วยการสมาทานว่าจะรักษาศีล  ๕  ข้อให้บริบูรณ์  ก็รักษาได้  แม้บางเวลาพอที่จะ
ล่วงละเมิดได้  ก็ไม่ล่วงละเมิดศีลที่ตนได้สมาทานแล้ว
     ๓.สมุจเฉทวิรัติ  การงดเว้นโดยเด็ดขาด  ไม่ทำการล่วงละเมิดแน่นอน  อย่างนี้เป็นการละได้โดยเด็ดขาดของพระอริยะ  ซึ่งท่านหมดอาสวะกิเลส
แล้ว  จะไม่ทำชั่วอีกต่อไป

เบญจธรรม
เบญจธรรม(กัลยาณธรรม)  ๕  ประการ  ที่ควรประพฤติควบคู่กันไปกับการรักษาศีล  ๕  เพื่อให้การรักษาศีลสมบูรณ์ยิ่งขึ้น  เป็นธรรมสำหรับกัลยาณ
ชนปฏิบัติ  เพื่อยับยั้งใจในการที่จะล่วงละเมิดศีลซึ่งมี  ๕  ประการควบคู่กันกับศีลแต่ละข้อ  ดังนี้
     ๑.เมตตากรุณา  ความรักความปรารถนาดี  และความสงสารต้องการช่วยเหลือปลดเปลื้องทุกข์ให้กับผู้อื่นและสัตว์อื่น  ให้ความเอ็นดูไม่ทำร้ายทุบ
ตีเขาหรือฆ่าให้ตาย  เป็นธรรมที่ระงับความพยาบาทเสียได้  ผู้มีเมตตากรุณา  ทำให้เกิดไมตรี  ความรัก  ความปรารถนาดี  เข้าใจสภาพความความจริง
ของสัตว์ทั้งหลายว่า  รักสุขเกลียดทุกข์เหมือนกันทุกตัวตน  มีใจต้องการให้สรรพสัตว์ได้รับความสุขกันทั่วหน้า  อาศัยธรรมข้อนี้  ในการปฏิบัติที่จะงด
เว้นจากการบล่วงศีลข้อ  ปาณาติบาต  ดังนั้น  เมตตากรุณานี้  ท่านจึงจัดว่า  เป็นธรรมคู่กับปาณาติบาต
     ๒.สัมมาอาชีวะ  การเลี้ยงชีพที่สุจริต  ปราศจากโทษ  รวมถึงมีความขยันหมั่นเพียรในการทำงาน  ไม่ปล่อยให้งานคั่งค้างอากูล  ละการเลี้ยงด้วย
มิจฉาชีพ  เช่นลักขโมย  ปล้น  ฉกชิงวิ่งราว  หรือการทุจริตอย่างอื่น ๆ สัมมาอาชีวะนี้  เป็นธรรมคู่กับอทินนาทาน  ไม่เอาขอวงที่เขาไม่ได้ให้  หรือ
เบียดเบียนเอาทรัพย์และกรรมสิทธิ์ของผู้อื่น
      ๓.กามสังวร  การรู้จักยับยั้งควบคุมตนเองในการปฏิบัติทางกามารมณ์  หรือเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ ไม่ให้ผิดศีลธรรม  ไม่มั่วสุมในเรื่องเพศ  ไม่ละเมิด
หรือนอกใจคู่ครองของตน  ไม่ละเมิดและไม่เสียสัตย์ต่อกัน  ไม่ละเมิดคู่ครองหรือของหวงห้ามอันเป็นสิทธิ์ของผู้อื่น  การปฏิบัติต่อคู่ครองของตน
อย่างบริสุทธิ์ใจ  มีความซื่อสัตย์ต่อกัน  ทำให้มีความรักใคร่ภักดีต่อกันมั่นคงยั่งยืน  มีความมั่นคงภายในครอบครัว  ลูกหลานมีความร่มเย็นเป็นสุข
และอบอุ่นใจ
กามสังวรนี้  เป็นธรรมคู่กับกาเมสุมิจฉาจาร  หรือบางแห่งก็ว่าสทารสันโดษ  ยินดีเฉพาะในสามีภรรยาของตน (เท่านั้น)
      ๔.สัจจะ  ความสัตย์เว้นขาดจากการพูดเท็จ  เมื่อมีใครถามก็ตอบตรงไปตรงมา  รู้ก็ว่ารู้  ไม่รู้ก็ว่าไม่รู้  ไม่พูดเท็จทั้งที่รู้เพราะเหตุแห่งประโยชน์
ตนหรือผู้อื่น  หรือเพราะเห็นแก่อามิสสินจ้างใด ๆ ไม่พูดส่อเสียดยุยงให้เขาแตกแยกกัน  พูดให้เขาสมานสามัคคีกลมเกลียวกัน  ไม่พูดคำหยาบ  พูด
แต่สิ่งไม่มีโทษ  ผู้ฟังรื่นหู  น่ารัก  จับใจ  พูดคำสุภาพ  เป็นที่พอใจชื่นชอบของคนหมู่มาก  ไม่พูดเพ้อเจ้อ (พูดพล่อย ๆ )  พูดถูกกาลถูกเวลา  พูด
จริงมีหลักฐานมีที่อ้าง  ประกอบด้วยประโยชน์ตามกาลอันสมควร
สัจจะนี้เป็นธรรมควบคู่กับมุสาวาท
      ๕.สติสัมปชัญญะ  ความระลึกได้ในความผิดถูกชั่วดีและรู้ตัวอยู่ทุกขณะ  หลักธรรมอันนี้ย่อมเป็นหลักประกันหรือเครื่องคุ้มกันของศีลทั้งหมด  
ท่านจัดไว้เป็นธรรมคู่กับศีลข้อ สุราเมรัย  การเสพสิ่งเสพติดของมึนเมา  เพราะการดื่มเหล้าดื่มเบียร์  กินยาม้า  ฉีดเฮโรอีน  ผงขาว  ดมกาว  เป็นต้น  
สิ่งเหล่านี้เป็นของทำลายประสาททำให้สติฟั่นเฟือน  เป็นที่ตั้งแห่งความประมาท  การมีสติสัมปชัญญะรู้เท่าทันพิษร้ายของสิ่งเสพติดเหล่านั้นว่า  มี
โทษทั้งแก่ตนและสังคม  ซ้ำยังเป็นของผิดกฎหมายด้วย  เมื่อรู้เช่นนี้จะทำให้งดเว้นจากสิ่งเสพติดเหล่านั้นได้
การเสพสิ่งเสพติดตามที่กล่าวมานี้  ทำให้สติฟั่นเฟือนจิตวิปลาสหน้าด้าน  ไม่มียางอาย  กล้าพูดกล้าทำในสิ่งที่เวลาปกติไม่กล้าทำ  เมื่อผู้ติดสิ่งเสพติด
เหล่านี้แล้ว  อาจล่วงละเมิดข้ออื่น ๆ ได้ทุกข้อ  ดังนั้นการล่วงศีลข้อสุรานี้จึงเป็นข้อที่สำคัญกว่าทุกข้อ  ต้องแก้ด้วยธรรมที่มีอุปการะมากกว่าอย่างอื่น  
คือสติ และสัมปชัญญะ

เรื่องที่ควรรู้
๑.ศีลแต่ละข้อ  ท่านบัญญัติขึ้นเพื่อประสงค์ดังนี้คือ
     ข้อ  ปาณาติบาต  บัญญัติขึ้นเพื่อให้มนุษย์มีเมตตาจิตในสัตว์ทุกจำพวก
     ข้อ  อทินนาทาน  บัญญัติเพื่อให้ทุกคนหาเลี้ยงชีพในทางสุจริต
     ข้อ  กาเมสุ ฯ  บัญญัติเพื่อป้องกันความแตกร้าวของมนุษย์
     ข้อ  มุสาวาท  บัญญัติเพื่อให้มีความสัตย์  จริงใจต่อกัน
     ข้อ  สุราเมรัย  บัญญัติเพื่อไม่ให้หลงลืมสติ  ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท

๒.ศีลทั้ง  ๕  ข้อ ๆ ที่ล่วงละเมิดแล้วมีโทษมากยิ่งกว่าข้ออื่นคือ
ข้อ  ๕  คือสุราเมรัย  เพราะผู้ล่วงแล้วหลงลืมสติ  อาจจะก่อเหตุ  หรือล่วงศีลข้ออื่นๆ อีกก็ได้

๓.อุโบสถศีล  หมายถึง  ศีลที่รักษาในวันอุโบสถ  ได้แก่  ศีล  ๘  ที่อุบาสกอุบาสิกา  สมาทานรักษาเป็นกานจำศีลในวันพระ

๔.อุโบสถศีล  ๓  ประเภท  มี
      ๑.นิคคัณฐอุโบสถ  
     ๒.โคปาลอุโบสถ
     ๓.อริยอุโบสถ

๕.การรักษาศีลอุโบสถ  ตามวันเวลาที่รักษา  ดังที่ท่านได้จัดไว้  ๓  วันนั้น  มีดังนี้
     ๑.ปกติอุโบสถ  รักษาวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง
     ๒.ปฏิชาครอุโบสถ  รักษาทั้งหมด  ๓  วัน
     ๓.ปาฏิหาริยอุโบสถ  รักษาอย่างต่ำ  ๑๕  วัน

๖.อาชีวัฏฐมกศีล  แปลว่า  ศีลที่มีการเลี้ยงชีพโดยสุจริต  เป็นข้อที่แปด (ข้อสุดท้าย) ๘ ข้อนั้น  คือ
     ๑.  เว้นจาการฆ่าสัตว์
     ๒.  เว้นจากการลักทรัพย์
     ๓.  เว้นจากการประพฤติผิดในกาม
     ๔.  เว้นจากการพูดเท็จ
     ๕.  เว้นจากการพูดส่อเสียด
     ๖.  เว้นจากการพูดคำหยาบ
     ๗.  เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
     ๘.  เลี้ยงชีพโดยสุจริต

๗.  การฆ่าสัตว์  ด้วยการฆ่าด้วยเจตนาที่รุนแรง  มีโทษมาก

๘.  ทรกรรมสัตว์  คือการประพฤติต่อสัตว์อย่างโหดเหี้ยม  ไม่มีเมตตาปราณีสงสาร

๙.  ผจญสัตว์  คือการให้สัตว์กัดกัน  ตีกัน  ชนกัน  จนได้รับความลำบากแต่คนดูชอบใจ  สนุกสนาน

๑๐.  ฉายาโจรกรรม  หมายถึงการทำทรัพย์สินของผู้อื่นให้สูญหาย  และเป็นสินใช้  (เงินที่ต้องรับผิดชอบจ่ายตามมูลค่า)  ตกอยู่แก่ตน  (เจ้าของ
ทรัพย์)  เช่น  ผลาญ  เป็นต้น

๑๑.  ประเภทของมุสา  ที่แสดงไว้ในเบญจศีลมี  ๗  อย่าง  คือปด  ทนสาบาน  ทำเล่ห์กระเท่ห์  มารยา  ทำเลส  เสริมความ  และอำความ

๑๒.  สมุจเฉทวิรัติ  สามัญชนถือปฏิบัติไม่ได้

๑๓.  เมตตา  กำจัดพยาบาทได้

๑๔.  กรุณา  กำจัดวิหิงสาได้

๑๕.  สทารสันโดษหมายถึงความยินดีพอใจเฉพาะภรรยาของตน  เป็นคุณสมบัติสำหรับผู้ชาย

๑๖.  ปติวัตร  หมายถึง  การปฏิบัติดีต่อสามี  เป็นคุณสมบัติสำหรับผู้หญิง

๑๗.  ความมีสัตย์  ๔  ประการมีดังนี้คือ
     ๑.  ความเที่ยงธรรม
     ๒.  ความซื่อตรง
     ๓.  ความสวามิภักดิ์
     ๔.  ความกตัญญู
    
 


26 July 2018

วัดนิคมสโมสร(บางคลี)