วิชาพุทธประวัติ ตอนที่ ๓

การศึกษาพุทธประวัติ คือการเรียนรู้ความเป็นไปของพระพุทธเจ้า ย่อมเป็นสิ่งสำคัญและมีประโยชน์มาก สำหรับพุทธศาสนิกชน

ปัจฉิมโพธิกาล
๑.   พระพุทธองค์เสด็จไปสั่งสอนเวไนยชน  ในคามนิคมชนบท  โดยทั่ว ๆ ไป  ตลอดเวลา  ๔๕  ปีที่ตรัสรู้มา  ปีสุดท้ายได้จำพรรษาที่  เวฬุวคาม  เมืองสาลี  ทรงพระประชวรหนักใกล้มรณชนม์พินาศ  ทรงอดกลั้นด้วยอธิวาสนขันติ  ทรงขับพยาธิด้วยความเพียรอิทธิบาทภาวนา
๒.  ได้ทรงแก้ความห่วงใยและความหวังของพระอานนท์  ๕  ข้อคือ  ธรรมเราได้แสดงแล้ว  ไม่ทำให้มีภายในภายนอกกำมืออาจารย์  คือความซ่อนเร้นในธรรมทั้งหลาย  ไม่มีแก่พระตถาคตเจ้า  ข้อลี้ลับที่จะต้องปิดไว้เพื่อแสดงแก่สาวกบางเหล่า หรือในอวสานกาลที่สุด  ไม่มีเลย  ตถาคตไม่มีความห่วงใยที่จะรักษาภิกษุสงฆ์  หรือว่าให้ภิกษุสงฆ์มีตัวเราเป็นที่พึ่ง  บัดนี้เราแก่เฒ่าล่วงเข้า  ๘๐  ปีแล้ว  กายชำรุดประดุจเกวียนชำรุดที่ซ่อมด้วยไม้ไผ่ใช้การไม่ไหวแล้ว  เดี๋ยวนี้กายแห่งตถาคต  ย่อมมีความผาสุกสบายอยู่ได้ด้วย อนิมิตเจโตสมาธิ  ความตั้งเสมอแห่งจิตไม่มีนิมิต  ท่านทั้งหลายจงมีตนเป็นเกาะที่พึ่ง  คือมีธรรมเป็นที่พึ่ง  อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง  แล้วทรงแสดงสติปัฏฐาน  และปกิณกะเทศนา
๓.  อยู่มาถึงวันมาฆบูชา  คือวันขึ้น  ๑๕  ค่ำ  เดือน  ๓  ปีที่  ๔๕  นั้นเอง  พระองค์ ทรงปลงอายุสังขารที่ปาวาลเจดีย์ เมืองเวสาลี  คือกำหนดวันว่า  “ต่อจากนี้ไป  ๓  เดือน  เราจักปรินิพพาน”
๔.  อิทธิบาท  ๔  คือฉันทะ  วิริยะ  จิตตะ  วิมังสา  ผู้ใดเจริญทำให้มาก  ผู้นั้นหวังดำรงอยู่ตลอดกัปป์ หรือยิ่งกว่า  ก็พึงตั้งอยู่ได้สมหวัง
๕.  สถานที่ทรงทำนิมิตโอภาส  เพื่อให้พระอานนท์อาราธนาพระตถาคตให้ดำรงอยู่ตลอดกัปป์ นับได้ ๑๖  ตำบลคือ  ภูเขาคิชฌกูฏ  โคตมกนิโครธ  เหวที่ทิ้งโจร  ถ้ำสัตตบัณณคูหาข้างภูเขาเวภารบรรพต  กาฬศิลาข้างภูเขาอิสิคิลิบรรพต  เงื้อมสัปปิโสณฑิกา  ณ สีตวัน  ตโปทาราม  เวฬุวัน  ชีวกัมพวัน  มัททกุจฉิมิคทายวัน  (ทั้ง  ๑๐ นี้อยู่ที่เมืองราชคฤห์)  อุเทนเจดีย์  โคตมกเจดีย์  สัตตัมพเจดีย์  พหุปุตตเจดีย์  สารันทเจดีย์  ปาวาลเจดีย์  (ทั้ง  ๖  นี้ อยู่ที่เมืองเวสาลี)
๖.  ต่อจากนั้นพระองค์เสด็จไป  กูฏาคารสาลาป่ามหาวัน  ทรงแสดง อภิญญาเทสิตธรรม (โพธิปักขิยธรรม)  สังเวคกถา  และอัปปมาทธรรม  ครั้งนั้นเสด็จกลับจากบิณฑบาตทอดพระเนตรเห็นเมืองเวสาลีเป็น  นาคาวโลก  มองอย่างช้างเหลียวหลังครั้งสุดท้ายแล้วไปบ้าน  ภัณฑุคาม  แสดง  อริยธรรม  คือ  ศีล  สมาธิ  ปัญญา  และวิมุตติ  ต่อจากนั้นไปบ้านหัตถีคาม  อัมพคาม  ชัมพุคาม  โภคนคร  ประทับที่  อานันทเจดีย์  แสดง ธรรมีกถา  และ พาหุลลกถา สุตตันติกปมหาปเทส  ๔  ต่อจากนั้นเสด็จถึงเมืองปาวา ประทับอยู่ที่ อัมพวัน ของนาย จุนทะ
๗.  พอถึงวันขึ้น  ๑๕  ค่ำ เดือน  ๖  ปีนั้นเอง  เวลาเช้าพระองค์เสด็จไปเสวยเนื้อสุกรอ่อน (สุกรมทฺทว, ชาวลังกาเรียก “สูกรมุดัว”  เป็นเห็ดชนิดหนึ่ง)  ที่บ้านนายจุนทะ  บุตรของนายช่างทอง  เสร็จแล้วก็อาพาธลงพระโลหิตในระหว่างทาง  ที่กำลังเสด็จไปเมืองกุสินารา  แวะประทับร่มไม้  รับสั่งให้พระอานนท์  ไปตักน้ำในแม่น้ำน้อยมาเสวย  ระงับความกระหายแล้ว  ได้รับผ้าสิงคิวรรณ  ๑  คู่  จากปุกกุสะ  (ศิษย์อาฬารดาบส)  นุ่งห่มแล้วรัศมีผุดผ่อง  
รัศมีของพระพุทธเจ้าผุดผ่อง  ๒  กาลคือ
     ๑.วันที่ตรัสรู้
     ๒.วันที่ปรินิพพาน
๘.  ต่อจากนั้นได้เสด็จถึงแม่น้ำกกุธานที  เสด็จลงสรงแล้วขึ้น  เสด็จประทับสีหไสยาสน์  ที่อัมพวัน (สวนมะม่วง)  แล้วตรัสว่า  ใคร ๆ อย่าทำความเดือดร้อนให้แก่นายจุนทะเลย เพราะบิณฑบาตที่มีอานิสงส์มากนั้น มี ๒ ครั้งคือ
     ๑.บิณฑบาตที่ฉันแล้วได้ตรัสรู้ (ได้แก่บิณฑบาตที่รับจากนางสุชาดา)
     ๒.บิณฑบาตที่ฉันแล้วปรินิพพาน (ได้แก่ที่รับฉันในบ้านนายจุนทะ)
๙.  พร้อมกับพระสงฆ์ได้เสด็จข้าม แม่น้ำหิรัญญวดี  ไปถึงสวนชื่อ  สาลวัน  ในเขตเมืองกุสินารา  ทรงสำเร็จสีหไสยาสน์ ตะแคงขวาหันพระเศียรไปทิศเหนือ  หันพระพักตร์ไปทิศตะวันตก  เหนือพระแท่นปรินิพพานไสยาสน์ ระหว่างต้นไม้สาละทั้งคู่  
๑๐.  การสำเร็จสีหไสยาสน์  เหนือแท่นปรินิพพานไสยาสน์  ระหว่างไม้สาละทั้งคู่ที่เมืองกุสินารา  เป็นการไสยาสน์ครั้งสุดท้าย เรียกว่า “อนุฏฐานไสยาสน์” (นอนไม่ลุกขึ้น)  มีเหตุการณ์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
๑๑.  ต้นสาละทั้งคู่ผลิดอก  ทั้งที่มิใช่ฤดูกาลตั้งแต่โคนถึงยอด  ดอกไม้ทิพย์ก็หล่นลงที่สรีระของพระพุทธเจ้าเพื่อบูชา  พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนอานนท์  เราไม่สรรเสริญการบูชาด้วยอามิสเห็นปานนี้  ว่าเป็นการดี  ถ้าบริษัท ๔ มาปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม  เราสรรเสริญว่าเป็นการดียิ่ง  ชื่อว่าบูชาเราด้วยบูชาอันยิ่ง”
๑๒.  ทรงแสดงความเป็นไปแห่งเทวดา  สมัยนั้น  พระพุทธเจ้าทรงขับ  พระอุปวาณะ  ผู้ยืนถวายงานพัดที่เฉพาะพระพักตร์ให้หลีกไปเสีย  พระอานนท์สงสัยจึงทูลถาม  พระองค์ตรัสบอกว่า  “เทวดาประชุมกันเต็มที่  ๑๒  โยชน์  รอบเมืองกุสินารา  เพื่อเห็นพระตถาคต  แต่พระอุปวาณะยืนบังเสีย  เราจึงขับไป”  พระอานนท์ทูลถามว่า  “เทวดารู้สึกอย่างไร”  พระองค์ตรัสตอบว่า  “เทวดาบางพวกที่ยังเป็นปุถุชนก็ร้องไห้กลิ้งเกลือกไปมา  บางพวกที่เป็นอริยชนมีความอดกลั้นโดยธรรมสังเวชว่า  “สังขารไม่เที่ยง  ไม่ได้ตามปรารถนา”
๑๓.  ทรงแสดงสังเวชนียสถาน  ๔  ตำบล  คือ
     ๑.สถานที่พระตถาคต  ประสูติ
     ๒.สถานที่พระตถาคต  ตรัสรู้
     ๓.สถานที่พระตถาคต  แสดงธรรมจักร
     ๔.สถานที่พระตถาคต  ปรินิพพาน
ว่าเป็นที่ควรดูควรเห็น ควรให้เกิดความสังเวช ของกุลบุตรผู้มีศรัทธา
๑๔.  อาการที่ภิกษุพึงปฏิบัติในสตรีภาพ  พระองค์ทรงแสดงว่า อย่าดูอย่าเห็น  เป็นการดี ถ้าจำเป็นต้องดูต้องเห็น  อย่าพูด  เป็นการดี ถ้าจำเป็นต้องพูด  ควรพูดคำเป็นธรรม
๑๕.  ทรงแสดงวิธีปฏิบัติในพุทธสรีระ  ว่าพึงปฏิบัติเช่นเดียวกับสรีระของพระเจ้าจักรพรรดิราช  คือห่อด้วยผ้าใหม่แล้วซับด้วยสำลี  สลับกันโดยอุบายนี้ ๕๐๐  คู่  แล้วเชิญลงในรางเหล็กเต็มด้วยน้ำมันมีฝาเหล็กครอบ  ทำจิตกาธารด้วยไม้หอม  ถวายพระเพลิงเสร็จแล้ว  เก็บสารีริกธาตุบรรจุไว้ในเจดีย์ ที่ถนนใหญ่ ๔ แพร่ง
๑๖.  ทรงแสดงถูปารหบุคคล  ๔  จำพวก  (บุคคลที่ควรทำเจดีย์ไว้บูชา)  คือ
     ๑.พระตถาคตสัมมาสัมพุทธเจ้า
     ๒.พระปัจเจกพุทธเจ้า
     ๓.พระสาวกอรหันต์
     ๔.พระเจ้าจักรพรรดิราช
๑๗.  ทรงประทานโอวาทแก่พระอานนท์  ในครั้งนั้นพระอานนท์ไปยืนเกาะไม้มีสัณฐานคล้ายศรีษะวานร  ร้องไห้อยู่ในวิหาร  พระองค์ตรัสเรียกมาให้ พระโอวาทว่า  “สังขารไม่เที่ยง  ต้องสูญสลายไปเป็นธรรมดา”  และทรงพยากรณ์ว่า  “อานนท์มีบุญได้ทำไว้แล้วด้วยไตรทวาร  จักได้เป็นพระอรหันต์ โดยฉับพลัน”
๑๘.  ตรัสสรรเสริญพระอานนท์  ว่าเป็นยอดอุปัฏฐาก  ฉลาดรู้จักกาลรู้จักบริษัท  ว่ากาลใดบริษัทไหนควรเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ฯลฯ  ถ้าแสดงธรรม  บริษัทฟังไม่อิ่มไม่เบื่อเลย
๑๙.  ตรัสเรื่องเมืองกุสินารา  พระอานนท์กราบทูลให้พระพุทธเจ้าเสด็จไปปรินิพพานที่เมืองใหญ่ ๆ คือ  เมืองจำปา  ราชคฤห์  สาวัตถี  สาเกต  โกสัมพี  พาราณสี  พระองค์ทรงห้ามเสียแล้วตรัสว่า  “เมืองกุสินารานี้  ในอดีตเคยเป็นนครใหญ่มากชื่อ  “กุสาวดี”  มีพระเจ้า  มหาสุทัศน์จักรพรรดิราช  ปกครองมีพลเมืองมาก  อุดมสมบูรณ์ด้วยข้าวปลาอาหาร  กึกก้องกังวานด้วยเสียงทั้ง  ๑๐  คือ เสียงช้าง  เสียงม้า  เสียงรถ  เสียงเภรี  เสียงตะโพน  เสียงพิณ  เสียงขับร้อง  เสียงกังสดาล  เสียงสังข์  เสียงคนเรียกกินข้าว  ไม่สงบทั้งกลางวัน กลางคืน
๒๐.  ตรัสให้แจ้งข่าวปรินิพพานแก่มัลลกษัตริย์  ว่าจักปรินิพพานในยามใกล้รุ่งแห่งคืนวันนี้  เพื่อมิให้มัลลกษัตริย์กินแหนงแคลงใจในภายหลัง  พระอานนท์รับพุทธฎีกาแล้ว  เข้าไปบอกแก่มัลลกษัตริย์ในกลางที่ประชุม ณ ศาลาว่าราชการ  กษัตริย์เหล่านั้นพร้อมด้วยโอรส ลูกสะไภ้  ประชาชน  ก็ โศกเศร้ารำพันต่าง ๆ ประการ  แล้วเสด็จไปสาลวัน  พระอานนท์จัดให้เข้าเฝ้าตามลำดับพระวงศ์  เสร็จในปฐมยาม
๒๑.  ทรงโปรดสุภัททปริพาชก  สมัยนั้น  สุภัททปริพาชก  ทราบว่าพระพุทธเจ้าจักปรินิพพานในคืนนี้  จึงรีบไปเพื่อจะทูลถามข้อสงสัยบางอย่าง  ชั้นแรกถูกพระอานนท์ห้ามไว้  ภายหลังได้รับพุทธานุญาต  จึงเข้าไปทูลถามว่า  “ครูทั้ง  ๖ คือ ๑ ปูรณกัสสปะ  ๒.  มักขลิโคศาล  ๓.  อชิตเกสกัมพล  ๔  ปกทธกัจจายนะ  ๕  สัญชัยเวลัฏฐบุตร  ๖  นิครนถนาฏบุตร  ได้ตรัสรู้จริงหรือ  พระองค์ทรงห้ามเสีย  แล้วทรงแสดงธรรมว่า  “มรรค  ๘  ไม่มีในพระธรรมวินัยใด  พระสมณะ  ๔  เหล่า  ไม่มีในพระธรรมวินัยนั้น  มรรค  ๘  มีในพระธรรมวินัยของพระตถาคตเท่านั้น  สมณะ ๔ เหล่า  ย่อมมีด้วย” สุภัททะฟังธรรมนี้แล้วแสดงตนเป็นอุบาสก  ขออุปสมบท  พระองค์ตรัสว่า  “คนนอกพุทธศาสนาต้องอยู่ปริวาส  ๔  เดือนจึงบวชได้”  สุภัททะว่า  “ให้อยู่สัก  ๔  ปีก็เอา”  พระองค์ตรัสให้พระอานนท์นำสุภัททะไปบรรพชา”
๒๒.  สุภัททะเป็นสักขีสาวก  พระอานนท์นำสุภัททะไปบรรพชาให้เป็นสามเณร  แล้วนำเข้าถวายพระพุทธเจ้า  พระองค์ให้สุภัททะอุปสมบทเป็นภิกษุ  และบอกกัมมัฏฐานให้ไม่ช้านักเธอก็ได้สำเร็จพระอรหันต์ทันตาเห็น  เป็น สักขีสาวก ของพระศาสดา  (สาวกองค์สุดท้าย)
๒๓.  ทรงประทานโอวาทแก่ภิกษุสงฆ์ว่า  “ธรรมก็ดี  วินัยก็ดี  อันใดที่เราแสดงบัญญัติไว้แล้ว  ธรรมและวินัยนั้นแล  จักเป็นศาสดาของท่านทั้งหลาย  โดยกาลล่วงไปแห่งเรา”
๒๔.  ตรัสให้ภิกษุเรียกกันโดยคารวะโวหาร  ๒  อย่างคือผู้แก่เรียกผู้อ่อน  ใช้คำว่า  อาวุโส หรือ  ออกชื่อโคตรก็ได้ ผู้อ่อนเรียกผู้แก่  ใช้คำว่า  ภนฺเต  หรือ  อายสฺมา  ก็ได้
๒๕.  ชั่วโมงสุดท้าย  ตรัสไว้  ๔  ข้อ คือดูก่อนอานนท์  ถ้าสงฆ์ปรารถนาจะถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียบ้าง  เมื่อเราล่วงไปแล้วก็จงถอนเถิด ดูก่อนอานนท์  เมื่อเราล่วงไปแล้วสงฆ์พึงทำ พรหมทัณฑ์ แก่ ฉันนภิกษุเถิด  คือหากฉันนะเจรจาคำใดก็พึงเจรจาคำนั้น  แต่ไม่พึงว่ากล่าวตักเตือนสั่งสอนแก่เขา
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ถ้าพวกเธอสงสัยในพระรัตนตรัยหรือในมรรคปฏิปทา  ก็จงถามเถิด  ดังนี้  ๓  ครั้ง  แต่พระสงฆ์นิ่งเงียบ  พระอานนท์กราบทูลว่า "น่าอัศจรรย์"  พระองค์ตรัสรับรองว่า  "ภิกษุ ๕๐๐ รูปที่ประชุมนั้นเป็นอริยบุคคล  สิ้นความสงสัยแล้ว" ตรัสปัจฉิมโอวาทว่า  อปฺปมาเทน  สมฺปาเทถ  ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ตนและผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด
๒๕.ปรินิพพาน  เมื่อพระองค์ตรัสปัจฉิมโอวาทแล้ว  มิได้ตรัสอะไรต่อไปอีกเลย  ทรงทำปรินิพพานกรรมด้วยอนุบุพพวิหาร  ๙  ประการดังนี้ เข้าฌานที่  ๑  ออกจากฌานที่  ๑  เข้าฌานที่  ๒  โดยนัยนี้  จนถึงฌานที่  ๘  เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ(ในตอนนี้พระอานนท์ถาม พระอนุรุทธว่า  “พระองค์ปรินิพพานแล้วหรือ ?”  พระอนุรุธตอบว่า  “ยังก่อน  กำลังเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ)  ออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธ  เข้าฌานที่  ๘  โดยนัยนี้ลงมาจนถึงฌานที่  ๑  ออกจากฌานที่  ๑  เข้าฌานที่  ๒  โดยนัยนี้จนถึงฌานที่  ๔  แล้วทรงปรินิพพาน
พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว  ณ เวลาใกล้รุ่งวันอังคาร  ขึ้น  ๑๕  ค่ำ เดือน ๖ ที่ป่าไม้สาละ (สาลวโนทยาน)  เมืองกุสินารา
๒๗  ในขณะนั้นเกิดมหัศจรรย์แผ่นดินไหวกึกก้อง  มีเทพยดาและมนุษย์กล่าวสังเวคคาถาดังต่อไปนี้
ท้าวสหัมบดีพรหม  กล่าวว่า  “บรรดาสัตว์ทั้งปวงในโลก  ล้วนจะต้องทิ้งร่างไว้ถมปฐพี  แม้องค์พระชินสีห์มีพระคุณยิ่งใหญ่  ก็ปรินิพพานแล้ว  น่าสลดนัก”
ท้าวโกสีย์เทวราช  กล่าวว่า  “สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ  เกิดขึ้นแล้วดับไปเป็นธรรมดา  ความสงบแห่งสังขารเป็นสุข  เพราะสังขารทุกข์มีชาติ ชรา มรณะ มิได้มาครอบงำ”
พระอนุรุทธ  กล่าวว่า  “พระพุทธเจ้ามีจิตมิได้หวั่นไหว  สะทกสะท้านต่อมรณธรรม  ปรินิพพานเป็นอารมณ์  ประหนึ่งประทีปอันไพโรจน์ดับไป  ฉะนั้น”
พระอานนท์  กล่าวว่า “เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานขันธ์  เกิดเหตุมหัศจรรย์  มีโลมชาติชูชันเป็นอาทิ  ปรากฏมีแก่เทพยดาและมนุษย์ทั้งหลาย”

อปรกาล
ถวายพระเพลิง

๑.  ครั้นพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว แต่ยังไม่สว่าง พระอนุรทธ บัญชาให้พระอานนท์ให้ไปบอกแก่ มัลลกษัตริย์
๒.  มัลลกษัตริย์  ให้ราชบุรุษเที่ยวตีกลองประกาศทั่วเมือง  นำเครื่องสักการบูชา  เครื่องคนตรี  ผ้าอย่างดี  ๕๐๐  พับ  เสด็จไปสู่สาลวัน  พร้อมกันบูชาพุทธสรีระมโหฬารสิ้นกาล  ๖  วัน  ครั้นวันที่  ๗  ปรึกษากันว่า  จะเชิญพระสรีระไปทางทิศใต้แห่งพระนครแล้วถวายพระเพลิงนอกเมือง
๓.  มัลลปาโมกข์  ๖  องค์  ทรงกำลังพร้อมกันเข้าเชิญพระสรีระมิสามารถยกให้ขยับเขยื้อนได้
๔.  มัลลกษัตริย์ทั้งหลายถามพระอนุรุทธว่าเพราะเหตุใด  พระอนุรุทธ  จึงบอกเป็นไปตามเทวดาประสงค์ว่า  ให้อัญเชิญพระสรีระไปทางทิศเหนือพระนคร  แล้วเข้าทางทางอุดรทวาร  ผ่านไปท่ามกลางเมือง  เยื้องไปออกทางประตูบูรพทิศ  แล้วถวายพระเพลิง ณ มกุฏพันธนเจดีย์  ที่ด้านตะวันออก แห่งพระนคร
๕.  มัลลกษัตริย์ทั้งหลายได้ทราบดังนั้น  จึงผ่อนผันตามความประสงค์ของเทวดา  เชิญพระสรีระไปยังมกุฏพันธนเจดีย์  พันด้วยผ้าใหม่  ซับด้วยสำลี  ตามวิธีที่ตรัสไว้แก่พระอานนท์  เตรียมจะถวายพระเพลิง
๖.  ครั้งนั้นมัลลปาโมกข์   ๔  องค์  สรงน้ำดำเกล้านุ่งห่มผ้าใหม่นำไฟเข้าจุดทั้ง  ๔  ทิศ  ไม่ติดเลย  พระอนุรุทธจึงเฉลยให้ทราบว่า  “เทพยดาให้รอพระมหากัสสปะ  ถวายบังคมพระพุทธบาทด้วยเศียรเกล้าก่อน”  มัลลกษัตริย์จึงผ่อนผันตามเทวาธิบาย
๗.  สมัยนั้น  พระมหากัสสปะพร้อมด้วยภิกษุ  ๕๐๐  รูป  เดินทางจากปาวานคร  พักอยู่ที่ร่มไม้แห่งหนึ่ง  เห็นอาขีวกถือดอกมณฑารพเดินมา  จึงถามข่าวพระศาสดา  เขาบอกว่าพระองค์ปรินิพพาน  ๗  วันแล้ว
๘.  ลำดับนั้น  ภิกษุยังไม่สิ้นราคะก็ร้องไห้กลิ้งเกลือกไปมา  ท่านที่สิ้นราคะ  ก็อดกลั้นด้วยธรรมสังเวช  มีภิกษุบวชภายแก่รูปหนึ่งชื่อ  สุภัททะ  ห้ามว่า  “หยุดเถิด  ท่านอย่าร่ำไรไปเลย  พระสมณะ นั้นพ้นไป(ปรินิพพาน)  แล้ว  เราจะทำอะไรก็ได้ตามพอใจ  ไม่ต้องเกรงบัญชาใคร”  พระมหากัสสปะได้ฟังเช่นนั้น  คิดจะทำนิคคหกรรม(ทำโทษ)  แต่เห็นว่ายังมิควรก่อน  จึงพาบริวารสัญจรต่อไป
๙.  ครั้นมาถึงมกุฏพันธนเจดีย์  จึงห่มผ้าเฉวียงบ่า  ประณมหัตถ์นมัสการ  เดินเวียนจิตกาธาร  ๓  รอบ  แล้วเปิดเพียงเบื้องพระบาท  ถวายบังคมพระยุคลบาทด้วยเศียรเกล้าของตน  ภิกษุ  ๕๐๐  รูปก็ปฏิบัติเช่นเดียวกัน
๑๐.  พอพระมหากัสสปะกับบริวารนมัสการแล้ว  เพลิงทิพย์เกิดขึ้นเองไหม้พระสรีระ  เหลืออยู่  ๕  อย่าง  คือ  ๑. พระอัฐิ  ๒. พระเกสา  ๓. พระโลมา  ๔. พระนขา  ๕. พระทันตา  กับผ้าคู่หนึ่ง  สำหรับห่อพระธาตุนั้น  (ข้อนี้แหละเป็นมูลเหตุให้ชาวพุทธทำ  อัฐมีบูชา  ประจำปี  ซึ่งเรียกกันว่า วันถวายพระเพลิง)
๑๑.  มัลลกษัตริย์นำน้ำหอมมาดับจิตกาธาร  (ดับไฟที่เชิงตะกอน)  แล้วเชิญพระสารีริกธาตุเข้าไปประดิษฐานไว้ใน    สัณฐาคารศาลา  ในนครกุสินารา  พิทักษ์รักษาอย่างมั่นคง  ด้วยประสงค์จะมิให้ใครแย่งชิงไป  และได้ทำสักการบูชาอย่างมโหฬาร  สิ้นกาล  ๗  วัน

แจกพระสารีริกธาตุ
๑.พระมหากษัตริย์  และพราหมณ์  ทั้ง  ๗  พระนครคือ
พระเจ้าอชาตศัตรู  เมือง  ราชคฤห์
กษัตริย์ลิจฉวี       เมือง  เวสาลี
กษัตริย์ศากยะ     เมือง  กบิลพัสดุ์
กษัตริย์โกลิยะ     เมือง  รามคาม
มหาพราหมณ์     เมือง  เวฏฐทีปกะ
มัลลกษัตริย์       เมือง  ปาวา
ได้ทราบว่า  พระพุทธเจ้าปรินิพพานที่เมืองกุสินารา  จึงส่งทูตมาขอแบ่งพระสารีริกธาตุ
๒.  มัลลกษัตริย์  ไม่ยอมแบ่งให้ด้วยเหตุ  ๒  ประการ  คือทรงเห็นว่า  ถ้าเราแบ่งให้ไปโดยเร็วทุกหมู่ที่มาขอ  คงจะไม่พอแน่  ยากที่จะเสร็จสงบลงได้  และยากที่จะผ่อนผันให้ถูกต้องตามอัธยาศัยของเจ้าของนครทุกองค์ได้  (เพราะส่งไปโดยราชสาสน์) ทรงคิดว่า  พระพุทธเจ้าทรงอุตส่าห์มาปรินิพพานในคามเขตของเรา  ก็เพื่อประทานพระสารีริกธาตุแก่เรา จึงไม่ยอมแบ่งให้แก่นครใด ๆ และได้ตรัสแก่ทูตานุทูตทั้ง  ๗  นครว่า  “พระผู้มีพระภาคเสด็จดับขันธปรินิพพานในอาณาเขตของเรา เราจักไม่ให้ส่วนพระสารีริกธาตุ” ส่วนทูตานุทูตก็ไม่ยอม จวนจะเกิดมหาสงครามอยู่แล้ว
๓.  โทณพราหมณ์ผู้ห้ามทัพ  ผู้มีปัญญาผ่อนผันให้ต้องตามคดีโลก และคดีธรรม  เมื่อเห็นเช่นนั้นจึงคิดถึงความไม่เหมาะสม  ๓  ประการคือ
    ๑.มัลลกษัตริย์ครองนครน้อยนี้  ควรสมานไมตรีกับนครอื่น ๆ ไม่ควรรบกัน
    ๒.การรบนั้นขัดต่อคำสอนของพระศาสดา  เพราะพระองค์ทรงสอนให้เว้นการเบียดเบียนกัน
    ๓.พระสารีริกธาตุนั้น  ควรแบ่งไปยังนครต่าง ๆ เพื่อสักการบูชาของชนทั่วไป จึงกล่าวสุนทรพจน์  ต่อไปว่า ขอคณานิกรเจ้าผู้เจริญ  เชิญฟังวาจาข้าพระองค์ในบัดนี้  พระพุทธเจ้าของเราทั้งหลายเป็นขันติวาที  การรบกันเพราะเหตุแห่งพระสารีริกธาตุของพระองค์นั้นไม่งามเลย ข้าแต่กษัตริย์เจ้าผู้เจริญ  ทั้งเจ้านครเดิม และต่างราชธานี  จงชื่นชมสามัคคีกัน  แล้วแบ่งปันพระสารีริกธาตุออกเป็น  ๘  ส่วนให้เสมอกัน  ทุกพระนครเถิด ขอพระสถูปบรรจุพระสารีริกธาตุ  จงแพร่หลายทั่วทุกทิศสถิตสถาพรเพื่อนิกรสัตว์สิ้นกาลนานเถิด กษัตริย์และพราหมณ์ได้สดับมธุรภาษิต  ก็เห็นชอบในสามัคคีธรรม
๔.  กษัตริย์และพราหมณ์  มอบธุระให้โทณพราหมณ์เป็นผู้แบ่งส่วนพระบรมธาตุ  โทณพราหมณ์จึงเอา  ตุมพะ (ทะนานทอง)  ตวงได้  ๘  ส่วนเท่า ๆ กัน  แล้วถวายแก่เจ้านครทั้ง  ๘  แล้วขอตุมพะนั้นไปบรรจุไว้ในเจดีย์มีชื่อว่า  ตุมพสถูป  หรือตุมพะเจดีย์
๕.  โมริยะกษัตริย์  เมืองปิปผลิวัน  ทราบข่าวปรินิพพานทีหลัง  จึงส่งทูตมาขอพระบรมธาตุ  เมื่อไม่ได้จึงเชิญ  พระอังคาร(เถ้าถ่าน)ในเชิงตะกอน ไปบรรจุไว้ในเจดีย์  มีชื่อว่า  “อังคารเจดีย์”

ประเภทแห่งสัมมาสัมพุทธเจดีย์
๑.  สัมมาสัมพุทธเจดีย์  เกิดขึ้นครั้งแรก  ๑๐  ตำบลคือ พระธาตุเจดีย์  ๘  ตำบล (คือใน  ๘  นครที่กล่าวแล้ว) พระตุมพเจดีย์  ๑ ตำบล  (ที่โทณพราหมณ์ทำไว้) พระอังคารเจดีย์ ๑ ตำบล (ในเมืองปิปผลิวัน)  รวม  ๑๐  ตำบล
๒.  เจดีย์ที่สร้างไว้  เพื่อเป็นเครื่องระลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ๔  ประเภทคือ
     ๑.ธาตุเจดีย์  คือเจดีย์ที่บรรจุพระสารีริกธาตุ
     ๒.บริโภคเจดีย์  คือพระตุมพเจดีย์  พระอังคารเจดีย์  สังเวชนียสถาน  ๔  ตำบล  เจดีย์ที่บรรจุบริขารที่พระองค์ทรงบริโภคแล้ว  เช่น  บาตร  จีวร  เตียง  ตั่ง  กุฏิ  วิหาร  และบริขารอื่น ๆ 
     ๓.ธรรมเจดีย์  คือเจดีย์ที่จารึกพระพุทธวจนะลงในใบลาน  แผ่นทอง  แผ่นศิลา  เป็นต้นแล้วบรรจุไว้ในเจดีย์
     ๔.อุทเทสิกเจดีย์  คือพระพุทธรูป

ความเป็นมาแห่งพระธรรมวินัย
๑.  ในวันที่แจกพระบรมสารีริกธาตุนั้น  มีพระสงฆ์ประชุมกันเป็นมหาสันนิบาต  พระมหากัสสปะเป็นประธานสงฆ์  หวังจะให้เกิดอุตสาหะในการสังคายนาพระธรรมวินัย  จึงนำเอาคำจ้วงจาบพระธรรมวินัย  ของสุภัททวุฑฒบรรพชิตมากล่าว  แก่ภิกษุทั้งหลายแล้วชักชวนว่า  “อย่ากระนั้นเลย  เราทั้งหลายจงร้อยกรองพระธรรมวินัยกันเถิด  มิฉะนั้น  วาทะที่มิใช่ธรรมวินัยจักรุ่งเรืองพระธรรมวินัยก็จักเสื่อมถอย  คนชั่วจักลบล้างธรรมวินัย  คนชั่วจักเจริญ  คนดีจักเสื่อมถอยน้อยกำลัง  พระศาสนาก็จักตั้งอยู่ไม่ได้”
๒.  ครั้นพระมหากัสสปะกล่าวจบ  พระสงฆ์ในที่ประชุมนั้นเห็นชอบจึงตกลงกันทำสังคายนาร้อยกรองพระธรรมวินัยเป็นครั้งแรก  และต่อจากนั้นพระสงฆ์รุ่นหลัง ๆ ก็ได้ช่วยกันทำการสังคายนาเป็นครั้งคราว ตามเหตุการณ์นั้น ๆ รวม  ๕  ครั้ง
๓.  สังคายนา  คือการร้อยกรองพระธรรมวินัย  หรือการประชุมตรวจชำระสอบทานและจัดหมวดหมู่คำสอนของพระพุทธเจ้า  วางลงเป็นแบบฉบับที่ถูกต้อง
๔.  ภายหลังจากนั้น  นักปราชญ์ได้แต่งคัมภีร์อรรถกถา  ฎีกา  อนุฎีกา  กับทั้งศัพท์ศาสตร์  เป็นอุปการะแก่นักศึกษา  กุลบุตรได้บวชเรียนปฏิบัติสืบต่อกันมา  พระธรรมวินัยอันเป็นตัวแทนพระศาสดา  จึงได้ดำรงเจริญแพร่หลายไป  ณ พุทธศาสนิกมณฑล  ด้วยประการฉะนี้แล

สังคายนา
การร้อยกรองพระธรรมวินัย ครั้งที่ ๑ - ๕

ครั้งที่ ๑ ทำเมื่อหลังจากพุทธปรินิพพาน ๓ เดือน สถานที่ ถ้ำสัตตบรรณคูหา ข้างภูเขาเวภารบรรพต แขวงกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ ปรารภเหตุสุภัททวุฒบรรพชิต กล่าวจ้วงจาบพระธรรมวินัย และหวังที่จะให้พระศาสนารุ่งเรืองสืบต่อไป  จำนวนสงฆ์ ๕๐๐ รูป พระมหากัสสปะ เป็นประธาน พระมหากัสสปะ เป็นผู้ถาม พระอุบาลีเป็นผู้ตอบพระวินัย พระอานนท์ตอบพระสูตรและพระอภิธรรม  ทำอยู่ ๗ เดือน พระเจ้าอชาตศัตรู เป็นผู้อุปถัมภ์
ครั้งที่ ๒ ทำเมื่อพ.ศ. ๑๐๐ สถานที่ วาลิกาคาม เมืองไพศาลี รัชวัชชี ประเทศอินเดีย ปรารภเหตุ ภิกษุวัชชีบุตร เมืองเวสาลี แสดงวัตถุ ๑๐ ประการ ที่ไม่ใช่ธรรมวินัย ว่าเป็นธรรมวินัย จำนวนสงฆ์ ๗๐๐ รูป พระยสกากัณฑกบุตร เป็นประธาน พระเรวตะเป็นผู้ถาม พระสัพพกามี เป็นผู้ตอบ ทำอยู่ ๘ เดือน พระเจ้ากาฬาโศกราช เป็นผู้อุปถัมภ์
ครั้งที่ ๓ ทำเมื่อพ.ศ. ๒๑๘ สถานที่ อโศการาม เมืองปาฏลีบุตร รัฐมคธ ประเทศอินเดีย ปรารภเหตุ เดียรถีย์ปลอมบวชในพระพุทธศาสนา จำนวนสงฆ์ ๑,๐๐๐ รูป พระโมคคัลลีบุตร เป็นประธาน พระโมคคัลลีบุตร เป็นผู้ถาม ภิกษุในเมืองปาฏลีบุตรทั้งหมด เป็นผู้ตอบ ทำอยู่ ๙ เดือน พระเจ้าอโศกมหาราช เป็นผู้อุปถัมภ์
ครั้งที่ ๔ ทำเมื่อพ.ศ. ๒๓๖ สถานที่ ถูปาราม เมืองอนุราชบุรี ประเทศศรีลังกา ปรารภเหตุ หวังประดิษฐศานพระพุทธศาสนาในลังกาทวีป จำนวนสงฆ์ ๖๘,๐๐๐ รูป พระมหินทเถระ เป็นประธาน พระอริฏฐะ เป็นผู้ตอบ ทำอยู่ ๑๐ เดือน พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ เป็นผู้อุปถัมภ์
ครั้งที่ ๕ ทำเมื่อ พ.ศ.๔๕๐ สถานที่ อาโลกเลณสถานมลัยชนบท ประเทศศรีลังกา ปรารภเหตุ เห็นความเสื่อมถอยปัญญาของกุลบุตร จึงให้เขียนพระพุทธพจน์ลงในใบลาน จำนวนสงฆ์ ๑,๐๐๐ รูป พระพุทธทัตตะ เป็นประธาน พระพุทธทัตตะ เป็นผู้ถาม พระมหาติสสะ เป็นผู้ตอบ ทำอยู่ ๑ ปี พระเจ้าวัฏฏคามินีอภัย เป็นผู้อุปถัมภ์


26 July 2018

วัดนิคมสโมสร(บางคลี)