ภัยของพระพุทธศาสนา

ปัจจุบันพระพุทธศาสนามีภัยเกิดขึ้นรอบด้านเช่น ภัยที่เกิดมากจากลัทธิการเมือง ภัยที่เกิดมาจากต่างศาสนา ภัยที่เกิดมาจากความประพฤติเหลวแหลกในสังคม

เรื่อง ภัยของพุทธศาสนา 
 

ภัยของพระพุทธศาสนาในปัจจุบัน 

๑. ภัยที่เกิดมากจากลัทธิการเมือง 
๒. ภัยที่เกิดมาจากต่างศาสนา 
๓. ภัยที่เกิดมาจากลัทธิแต่งตัวเลียนแบบ 
๔. ภัยที่เกิดมาจากความประพฤติเหลวแหลกในสังคม 
 

๑. ภัยที่เกิดจากลัทธิการเมือง 
       ในโลกปัจจุบันนี้ มีระบบการปกครองอยู่ ๒ ฝ่ายด้วยกัน คือ ฝ่ายเสรีประชาธิปไตย กับฝ่ายสังคมนิยม การปกครองตามระบอบประชาธิปไตย เป็นระบบการปกครองที่เอื้ออำนวยแก่ปวงชนส่วนใหญ่ เพราะมีการเปิดโอกาสให้สิทธิเสรีแก่ชนทุกฝ่าย แม้ศาสนาก็มีการส่งเสริมทำนุบำรุง ถวายความอุปถัมภ์ทุกวิถีทาง

 

       แม้แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผู้เป็นประมุขของประเทศก็ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภ์ พระพุทธศาสนาจึงได้เจริญรุ่งเรืองมาได้จนถึงปัจจุบันนี้ ถึงในประเทศอื่นที่มีระบบการปกครองแบบเดียวกันก็เป็นเช่นนั้น 
       ส่วนลัทธิสังคมนิยมที่เราเรียกกันว่าฝ่ายซ้ายนั้น เป็นระบบการปกครองที่จำกัดขอบเขตของปวงชน ไม่ให้อิสระเสรีในการดำเนินการแทบจะทุกอย่าง และถ้าเป็นระบบคอมมิวนิสต์ด้วยแล้วก็ยิ่งมีการริดรอนสิทธิของมนุษยชนหมดทุกวิถีทาง 
       เมื่อเป็นเช่นนี้จึงนับว่าเป็นระบบการปกครองที่เป็นปฏิปักษ์ต่อพระพุทธศาสนาโดยตรง เพราะเขาเห็นว่าพระพุทธศาสนามีโทษเหมือนยาเสพติด ศาสนธรรมที่มีจารึกอยู่ในตำรับตำราก็ถูกเผาทำลายไป ฉะนั้นลัทธิการเมืองจึงนับว่าเป็นภัยแก่พระพุทธศาสนาได้เช่นกัน 


๒. ภัยที่เกิดจากต่างศาสนา 
       ประเทศไทยของเรา เป็นประเทศที่มีการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตย มีการเปิดโอกาสให้หมู่ชนทำกิจกรรมของตนตามสะดวก กิจกรรมใดที่ไม่ขัดข้องต่อศีลธรรมและกฎหมาย ก็เป็นอันว่าทำได้ตามใจชอบ โดยที่สุดแม้ศาสนาเอง ก็เปิดโอกาสให้ดำเนินการกันได้อย่างเสรี ด้วยเหตุนี้ในประเทศของเราจึงมีศาสนาต่าง ๆ เข้ามาเผยแพร่อยู่หลายศาาสนาด้วยกัน ตัวอย่าง เช่น ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ เป็นต้น แต่ศาสนาาบางลัทธิที่ได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร 
       มีเจตนาไม่บริสุทธิ์คิดล้มล้างพระพุทธศาสนา เพื่อดึงเอาศาสนิกไปเป็นพวกของตนแสดงความก้าวร้าวอย่างเห็นได้ชัด ชาวพุทธเราเป็นฝ่ายรักสันติไม่ได้แสดงการตอบโต้ด้วยประการใด ๆ แต่ทางฝ่ายเขาก็หาได้หยุดยั้งในเรื่องการรุกรานใหม่ ยังพยายามสร้างอิทธิพลแผ่อำนาจสร้างสถาบันขึ้นหลายต่อหลายแห่ง 
       นอกจากนั้นเขายังเที่ยวกว้านเอาพวกที่มีความรู้ในฝ่ายเราระดับมหาเปรียญ ๕-๖-๗-๘-๙ เข้าไปช่วยอบรมสั่งสอนในสถาบันของเขา โดยให้ค่าตอบแทนในราคาแพง ๆ เพราะในปีหนึ่ง ๆ เขาจะได้งบประมาณ ในการสนับสนุนมากยิ่งกว่าการตั้งงบประมาณจ่ายประจำปี ในประเทศไทยของเราทั้งประเทศเสียด้วยซ้ำไป 
       นอกจากนั้น เขายังมีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเพื่อผลิตนักวิชาการในฝ่ายโลก เพื่อให้ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยของเขา ได้มีโอกาสเข้าไปทำงานในประทรวงทบวงกรมต่าง ๆ ของรัฐบาล บางท่านที่ทำงานในวงการรัฐบาลตำแหน่งสูง ๆ ก็มีอยู่มาก ทั้งนี้เพื่อต้องการจะสร้างอำนาจความถ่วงดุลย์ให้มีน้ำหนักทั้งทางฝ่ายอาณาจักรและศาสนจักรนั่นเอง 
       ส่วนในด้านหลักการสอนฝ่ายเขาก็พยายามส่งตัวแทนที่มีสมองชั้นนำเข้ามาศึกษาถ่ายทอดจาก
คัมภีร์ของเราทั้งในส่วนพระวินัย พระสูตร ตลอดถึงพระอภิธรรม ตำหรับตำราอะไรที่ขึ้นชื่อโด่งดังในฝ่ายเรา เขาก็พยายามสะสมไว้มากมาย 
       แทบจะกล่าวได้ว่าเขาพร้อมทุกอย่างที่จะฝังรากฐานลัทธินี้ให้มั่นคง เพราะอุปกรณ์ที่จำเป็น ในการใช้พัฒนาศาสนาของเขาก็ทันสมัย บุคลากรของเขาก็มีประสิทธิภาพสูง เงินทองที่เป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินงานของเขาก็พร้อมทุกอย่าง 

       ปัจจุบันนี้เขากำลังเปลี่ยนใหม่ ที่จะต้องรับสมาชิกให้เข้าไปร่วมกับกิจกรรมของเขา เช่น เวลาจะบวชก็มีอุปัชฌาย์คู่สวด มีพระอันดับ มีการทำบุญให้ทาน ทอดกฐิน ผ้าป่า เป็นต้น ตามแบบของพุทธเรา ต่อไปชาวพุทธเราผู้ที่ขาดความสังเกตหรือความรู้ไม่ถึง ก็ย่อมตกหลุมพรางของเขาหมดโดยไม่รู้ตัว 

       ดังนั้นภัยต่างลัทธิต่างศาสนาจึงเป็นภัยที่น่ากลัว ป้องกันและกำจัดได้ยากมาก เพราะพุทธเราด้อยไปเสียทุกอย่าง พุทธเราทางด้านเศรษฐกิจเราก็ด้อย จะทำอะไรแต่ละครั้งก็จะต้องเรี่ยไรกัน ขาดปัจจัยสำคัญ คือ เงินทอง พูดถึงบุคคลกรก็มี 
       ประสิทธิภาพต่ำ มีจำนวนน้อยไม่พอใช้ เครื่องทุ่นแรงในการเผยแผ่ก็ดี ในการศึกษาก็ดี ในการพัฒนาสถานที่ ๆ จำเป็นต้องใช้ก็ดี รู้สึกด้อยไปทุกอย่าง จึงเป็นเรื่องที่น่าหนักใจอยู่ไม่น้อย 

๓. ภัยที่เกิดจากลัทธิเลียนแบบ 
       ปัจจุบันนี้ มีพวกลัทธิเลียนแบบอยู่หลายสำนัก กำลังกำเริบสานอย่างหนัก เช่น เลียนแบบเครื่องแต่งตัว เลียนแบบเครื่องอุปกรณ์ที่ต้องใช้ เลียนแบบตำราเรียน สร้างความนิยมให้แก่ผู้มีอันจะกิน โดยยกตนข่มท่านด้วยการถือศีล กินเจอวดอ้างตนว่าเป็นผู้อยู่นอกโลก ไม่ใช่มนุษย์ธรรมดา ไม่ยอมตั้งอยู่ในอาณัติของใคร ๆ ทั้งนั้น อาศัยเกียรตินิยมเท่าที่ตนเคยมีอยู่แต่สมัยเป็นฆราวาส สร้างอิทธิพลสะสมพวกพ้อง โดยเฉพาะผู้ที่เป็นเศรษฐี คหบดี สละทรัพย์ซื้อที่ทางสร้างสำนัก 
       มีการบวชพระเณรกันเอง ตั้งตนเป็นอุปัชฌาย์เอาเอง โดยไม่ขึ้นแก่ใครทั้งนั้น ตั้งนิกายขึ้นใหม่โดยเอกเทศ เลียนแบบในเรื่องการนุ่งห่ม เรื่องการปฏิบัติตามแบบเท่าที่ตนได้บัญญัติขึ้น มีการบิณฑบาตแบบพระเถร ไม่ว่าเพศหญิงเพศชายใช้พระไตรปิฎกฉบับภาษาไทย ที่กรมการศาสนาแปลจัดพิมพ์ไว้แล้ว เป็นเครื่องอ้างในการทำตำราออกเผยแพร่ แล้วก็ตีความเอาเอง เมื่อดูแล้วก็ยากที่จะทำความเข้าใจได้ 

       สำหรับสามัญชนที่อ่อนต่อการศึกษา มีโรงพิมพ์ตำราออกเผยแพร่เอง พยายามส่งสาวกออกเที่ยวเผยแพร่ตามชนบทในถิ่นทุรกันดาร ทำให้ประชาชนที่ยากจนด้อยพัฒนาในทุก ๆ ด้าน ต้องยอมตัวเข้ามาสวามิภักดิ์เป็นสานุศิษย์กันเป็นจำนวนมาก 
       ส่วนพระเถรเจ้าของถิ่นที่เป็นหลวงตา หลวงปู่ที่เฝ้าวัดอยู่ไม่กี่องค์ก็ต้องพลอยงงงันไปตาม ๆ กัน แล้วพวกนี้ ส่วนใหญ่จะทับถมพระเก่าในรูปการต่าง ๆ จนในทางท้องถิ่นต้องหลงเชื่อแล้วพากันทอดทิ้งพระเณรและวัดเดิมของตนไปเป็นสมาชิก ของพวกลัทธิเลียนแบบอย่างที่ว่านี้ก็มีอยู่มาก จึงเป็นที่น่าวิตกสำหรับภัยจากพวกลัทธิเลียนแบบอย่างที่ว่านี้ มากพอสมควรทีเดียว 

๔. ภัยที่เกิดจากความประพฤติเหลวแหลกในสังคมสงฆ์ 
       ปัจจุบันนี้ ประเทศไทยของเรากำลังประสบภัยอยู่รอบด้าน ทั้งภายในและภายนอก ขวัญของประชาชนก็ไม่สงบร่มเย็นเท่าที่ควร ไหนจะปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาการเมือง ปัญหาทางการทหาร แต่ละอย่างล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาที่บีบบังคับ และเขย่าขวัญให้เกิดความโยกคลอนทั้งนั้น ประชาชนไม่ทราบที่จะหันหน้าไปพึ่งหรือยึดเหนี่ยวสรณะอันใด ให้เป็นที่อบอุ่นใจได้เต็มที่ จะมีอยู่ก็แต่สถาบันชาติ สถาบันศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้ง ๓ นี้ เท่านั้น 
       แต่บัดนี้สถาบันชาติหรือก็ง่อนแง่นเต็มที เพราะประเทศไทยของเรานั้น มีการปนปะคละกันไปไม่ว่าชาติใด ๆ รู้สึกว่าจะหาดูได้แทบทุกชาติ ที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศของเรา จะสำรวจตามบัญชีสำมะโนครัวบางทีเป็นคนไทย 
       แต่สัญชาติญวนก็มีอยู่มาก บางทีเล็ดลอดจากค่ายกักกัน โดยยื่นสินจ้างรางวัลให้แก่เจ้าหน้าที่ ที่เห็นแก่เงิน ไม่นึกว่าชาติของตนจะล่มจม ให้เข้ามาลอยนวลอยู่ในเมืองหลวงก็มีอยู่มาก ดังนั้นสถาบันชาติก็ไม่ค่อยจะมั่นคงถาวรเท่าใดนัก ถึงสถาบันศาสนาก็เยอะ เมื่อมาเปิดเผยถึงภัยที่เกิดแก่พระพุทธศาสนาอย่างที่ได้ชี้แจงมา ก็รู้สึกว่าไม่ค่อยน่าสบายใจเท่าใดนัก 
       ส่วนสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น พระองค์พร้อมด้วยพระบรมราชินีนาถ พระราชโอรส พระราชธิดา ก็ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ ด้วยความเหนื่อยยากลำบากพระวรกายตลอดถึงพระราชหฤทัยอยู่ไม่น้อย แต่กระนั้นพระองค์เอง ก็จะต้องพึ่งสถาบันศาสนาเป็นสรณะที่พึ่งในทางใจ แต่ปัจจุบันนี้ก็มาเกิดเหตุการณ์ที่น่าบัดสีขึ้นในสังคมสงฆ์อยู่บ่อยครั้ง เช่น ประเดี๋ยวคดีเจ้าอาวาส ต้องอันเติมวัตถุกับสตรีเพศบ้าง เกิดโจรกรรมของสงฆ์โดยมีพระสงฆ์ร่วมมือด้วยบ้าง เกิดอาชญากรรมโดยน้ำมือของภิกษุผู้บวชในศาสนา บ้างเกิดสำนักสงฆ์เถื่อนตั้งสำนักขึ้นเองแล้วซ่องสุมผู้คนที่เป็นภัยแก่สังคม ก่อความไม่สงบทำให้เป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ประจานความเลวร้าย ความเสียหาย ทำลายศรัทธาของประชาชนอยู่บ่อยครั้งมาก

พุทธศาสนาสูญหายด้วยเหตุ ๕ อย่างคือ 

๑. พุทธบริษัท ไม่ฟังธรรมโดยเคารพ 
๒. พุทธบริษัท ไม่เรียนธรรมโดยเคารพ 
๓. พุทธบริษัท ไม่ทรงจำธรรมโดยเคารพ 
๔. พุทธบริษัท ไม่พิจารณาธรรมที่ทรงจำไว้โดยเคารพ 
๕. พุทธบริษัท ไม่ยอมปฏิบัติธรรมตามที่ตนเข้าใจแล้วโดยเคารพ (อํ. ปญฺจก) 


ขยายความ 

ประการที่ ๑ การตั้งใจฟังธรรมที่ตนยังไม่เข้าใจโดยเคารพ ย่อมเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้นับถือพระพุทธศาสนาเกิดความซาบซึ้งในธรรมรส และอรรถรสของพระพุทธศาสนา แต่เมื่อขาดความเคารพเสียอย่างเดียวเท่านั้น ก็มองเห็นศาสนาว่าเป็นเพียงยาเสพติดเท่านั้น 

ประการที่ ๒ การตั้งใจเรียนธรรมโดยเคารพ ย่อมเป็นต้นเหตุโน้มน้าวจิตใจให้ตระหนักคุณค่าของพระพุทธศาสนาว่า เป็นเสมือนดวงประทีปนำทางของชีวิต สามารถจะบันดาลให้ประสบกับประโยชน์ในปัจจุบัน อนาคต และประโยชน์อย่างยิ่งได้ 
                เมื่อขาดความเคารพเสียอย่างเดียวเท่านั้น ก็ย่อมเห็นว่าการเรียนธรรมไม่มีประโยชน์อะไร สึกลาเพศไปแล้วหางานหาการทำก็ยาก สู้เรียนวิชาแบบโลกๆ ที่เขาเรียนกันก็ไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็พากันเบื่อหน่ายไม่สนใจในการเรียนธรรม พากันทอดทิ้งพระปริยัติศาสนาอันเป็นกิจของตนเองไปหมด เพราะผู้สืบทอดพระพุทธศาสนามุ่งอาชีพมากกว่าการมุ่งผลที่จะพึงได้มาจากการปฏิบัติธรรม 

ประการที่ ๓ การท่องบนสาธยายทรงจำ เป็นกิจของผู้สืบศาสนาโดยตรง 
       เมื่อก่อนพุทธศกล่วงได้ประมาณ ๔๐๐ ปี พระสงฆ์ผู้คงแก่เรียนใช้การจำพระไตรปิฎกกันมาด้วยมุขปาฐะทั้งนั้น เพิ่งจะมาจารึกเป็นอักษรเมื่อประมาณ ๒๐๐๐ ปีเศษๆ นี่เอง ดังนั้นการท่องจำจึงเป็นกิจของพระเณรโดยตรง แต่เมื่อพระเณรพากันทอดทิ้งกิจ คือ สาธยายท่องบ่นเสียแล้ว หลักฐานการทรงจำก็จะต้องเสื่อมสูญลงอย่างแน่นอน เราจะไปเอาวิธีการแบบใหม่ของยุโรปเขามาใช้นั้นมันไม่ได้ เพราะวิธีโลกนั้นไม่มีหลักตายตัว มีการเปลี่ยนแปลงกันอยู่เรื่อย ๆ เมื่อถึงเวลาล่วงกาลผ่านไปๆ ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไขกันใหม่ 
       ส่วนบาลีพระไตรปิฎกนั้น ใครจะไปเปลี่ยนแปลงแก้ไขของท่านไม่ได้ ของท่านมีมาอย่างไรแม้จะล่วงไปตั้งพันๆ ปี ก็จะต้องคงของท่านไว้อย่างนั้น เพราะคำสอนของพุทธะนั้น เป็นพระวาจาที่ไม่รู้จักตายนั่นเอง เมื่อตรัสคำใดแล้ว คำนั้นต้องแน่นอนไม่แปรผันเป๋นอย่างอื่นไปได้ตราบเท่าชั่วฟ้าดินสลาย 

ประการที่ ๔ ไม่พิจารณาธรรมโดยเคารพ 
                กิจนี้ก็เป็น กิจที่สำคัญมาก เพราะเมื่อท่องบ่นทรงจำไว้แล้ว แต่ทว่าขาดการพิจารณาให้รู้ซึ้งถึงเหตุผล ก็ยากที่จะนำเอามาปฏิบัติเพื่อพัฒนาจิตใจของตนให้พ้นจากอำนาจของกิเลส ทั้งยังจะเป็นโทษที่ยากต่อการที่จะนำออกเผยแผ่อีกส่วนหนึ่งด้วย 
                เมื่อไม่มีความเข้าใจก็เป็นเหตุให้เกิดความเบื่อหน่าย ในที่สุดก็ทอดทิ้งธรรมแล้วหันไปสนใจอย่างอื่นเท่าที่ตนเห็นว่าดี 

ประการที่ ๕ การยอมอบตนเข้าปฏิบัติตามธรรมเท่าที่ตนเกิดความเข้าใจแล้วนั้น ย่อมเป็นต้นเหตุอันสำคัญที่จะทำให้ตนรู้รสชาติของพระพุทธศาสนาได้ด้วยการรู้แจ้งแทงตลอดตามสภาวธรรม พุทธบริษัทจะได้มาก็ด้วยการปฏิบัติธรรมโดยสมควรแก่ธรรมเท่านั้น 
       แต่ถ้าหากตนเองขาดความเคารพในการปฏิบัติตามธรรมเท่าที่ตนเข้าใจแล้ว ตนก็ไม่สามารถรู้รสชาติของพระศาสนาเลย ดูไม่ต่างอะไรกับคนเลี้ยงโค ธรรมดาคนเลี้ยงโคส่วนใหญ่จะไม่ได้รับรสของโค ๕ อย่าง มีนมและเนยเป็นต้นจากโคที่ตนเลี้ยง จะได้เพียงค่าจ้างเลี้ยงประจำวันหนึ่งๆ เท่านั้น อันนี้ก็เป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาเสื่อมสูญได้


เหตุให้สูญหายอีก ๕ ประการ คือ 

๑. พุทธบริษัท เรียนธรรมะผิดๆพลาดๆ 
๒. พุทธบริษัท เป็นคนหัวดื้อ ว่ายาก ขาดความอดทน 
๓. พุทธบริษัท ที่เป็นพหูสูตรคงแก่เรียน เรียนจบแล้วไม่ยอมรับผิดชอบในหน้าที่ของตน 
๔. พุทธบริษัท ชั้นผู้นำหมู่คณะ เป็นคนมัวเมาลาภสักการะ 
๕. พุทธบริษัท แตกความสามัคคีกัน (อํ. ปญฺจก) 


       มิใช่แต่เพียงเหตุ ๕ ประการข้างต้นเท่านั้น ที่ทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อม ยังมีเหตุที่ทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมอีก ๕ ประการ คือ 
ประการที่ ๑ การที่พุทธบริษัทได้พากันศึกษาเล่าเรียนธรรมมาโดยถ่องแท้ ไม่มีความผิดพลาดทั้งอรรถะและพยัญชนะ นี่ก็เป็นมูลฐานสำคัญที่จะให้การเผยแผ่เป็นไปตรงตามหลักธรรมความเป็นจริง 

       แม้การที่จะปฏิบัติธรรมเท่าที่ตนเรียนมาโดยถูกต้องนั้น ก็ย่อมจะเป็นปัจจัยให้เข้าถึงสภาวธรรมความเป็นจริงได้ เพราะปริยัติที่ถูกก็ย่อมเป็นปัจจัยแก่การปฏิบัติที่ถูกตรงอยู่ในตัวแล้ว แต่ถ้าเรียนมาผิดพลาดก็จะปฏิบัติให้ถูกต้องไม่ได้เลย เหมือนตัวอย่างที่พราหมณ์ ๒ คนเข้าไปเรียนกรรมฐานจากสำนักพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ก็สอนแก่พราหมณ์ว่า "ขยวยะ" ใจความก็ว่าให้พราหมณ์สองคนกำหนดถึง "ความเสื่อมและความสิ้นไป" แต่พราหมณ์สองคนกลับฟังผิดพลาดไปว่า "ฆฏะปฏะ" ซึ่งแปลว่า "แผ่นผ้าที่หม้อ" 
       เมื่อพราหมณ์พากันไปปฏิบัติกรรมฐาน ก็ย่อมไม่ได้ผลเลย ดังนั้นการเรียนมาอย่างผิดพลาดจึงเป็นเหตุให้พุทธศาสนาเสื่อมสูญอีกข้อหนึ่ง 

ประการที่ ๒ การที่พระพุทธศาสนาได้มีอายุยืนยงคงมาได้ถึงสองพันห้ายี่สิบแปดปีในปีนี้ ก็เพราะได้อาศัยภิกษุหนุ่มสามเณรน้อยเป็นคนที่ว่านอนสอนง่าย ยินดีมีศรัทธาที่จะปฏิบัติพระธรรมวินัย มีความอดทนต่ออุปสรรคความขัดข้องที่จะมาทำลายพระพุทธศาสนา 
       แม้ในกาลต่อไปในภายหน้า ถ้าภิกษุหนุ่มสามเณรน้อยผู้เป็นอนาคตของพุทธศาสนายังพากันมีคุณธรรมข้อที่ว่านี้อยู่
ศาสนาของพระบรมครูเจ้าก็จะสถิตสถาพรต่อไปตลอดกาลนาน 
       แต่ถ้าทุกคนเกิดมีความเห็นแก่ตัว เห็นแก่ลาภผล เห็นแก่อาชีพ เห็นแก่สินจ้างรางวัล เห็นแก่ลาภ ยศ สรรเสริญ และความสุขแบบชาวโลกเขาเสาะแสวงหากัน ไม่ยอมเชื่อฟังครูบาอาจารย์ เป็นคนที่อวดดื้อถือดีเสียแล้ว ก็แน่นอนเหลือเกินว่า พระพุทธศาสนาจะต้องบ่ายโฉมหน้าลงดินแน่นอน เพราะอนาคตของพระพุทธศาสนาฝากชีวิตไว้แก่ชนพวกนี้ ส่วนพระเถระผู้ใหญ่ ก็จะต้องพากันสิ้นสภาพไปตามกฎธรรมดาของสังขารธรรมอย่างชนิดที่ไม่มีใครจะหลีกเลี่ยงได้เลย 

ประการที่ ๓ อนึ่ง หน้าที่การรับผิดชอบเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เป็นหน้าที่ของพุทธบริษัทผู้ที่เป็นพหูสูตรคงแก่เรียนจะต้องรับผิดชอบ การสังคายนาแต่ละครั้งที่ผ่านมาก็ล้วนแต่เป็นผลงานของท่านผู้ที่เป็นพหูสูตหนักแน่นในพระพุทธศาสนาทั้งนั้น 
                หากท่านผู้ทรงพระคุณเหล่านั้นไม่พากันรับผิดชอบ ต่างคนต่างปลีกเอาตัวรอดเสีย พระพุทธศาสนาจะมีอายุยืนยงคงถาวรมาถึงพวกเราได้อย่างไร แม้ในอนาคตกาลที่พระพุทธศาสนาจะมีอายุยืนต่อไป ก็จะต้องเป็นภาระธุระของผู้ที่เป็นพหูสูตคงแก่เรียนนี่แหละเป็นผู้รับผิดชอบ 
       แต่ถ้าต่างคนต่างพากันปลีกตัวหนี ทอดทิ้งกิจในการสอนการเผยแผ่ด้วยใจจริงเสียแล้ว พุทธศาสนาก็จะมีชีวิตอยู่ต่อไปไม่ได้แน่นอน อันนี้ก็เป็นเหตุทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมสูญอีกข้อหนึ่ง 

ประการที่ ๔ การที่จะพัฒนาพุทธศาสนาให้ถึงความมั่นคงถาวรและเจริญก้าวหน้า ทั้งในด้านปริยัติและการปฏิบัติต่อไปได้นั้น สังเกตเหตุการณ์เท่าที่ได้เป็นมาแล้วตามประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนา ก็จำเป็นจะต้องอาศัยพระเถระระดับผู้นำศาสนา เป็นหัวหน้าหมู่คณะชักจูงแนะนำเหล่าศิษยานุศิษย์ให้เป็นผู้ที่มีความสนใจ เสียสละลาภและสักการะที่จะพึงได้มาจากความเคารพนับถือของตน มีความเป็นห่วงเป็นใยในเรื่องของปริยัติและปฏิบัติอย่างเต็มชีวิตจิตใจ 

       การกระทำแบบที่ว่านี้ พระพุทธศาสนาจึงจะสามารถดำเนินต่อไปได้ แต่ถ้าพระเถระระดับผู้นำหมู่คณะเป็นผู้มัวเมาในลาภผลซึ่งจะได้มาจากความเคารพนับถือที่นำมาบูชาสักการะ จนไม่มีเวลาว่างที่จะมาดูแลกิจ คือ การศึกษาและการปฏิบัติแล้ว การศึกษาและการปฏิบัติก็ไม่อาจเป็นไปได้เหมือนกัน เพราะประเพณีพิธีกรรมที่เรียกว่าศาสนพิธีเท่าที่ชาวพุทธบัญญัติขึ้นทำนั่นแหละ ถ้าทำกันแต่พอประมาณก็เป็นประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา แต่ถ้ามากจนเกินขอบเขตไป แทนที่จะเป็นประโยชน์กลับเป็นอุปสรรคเข้ามาขัดขวางการพัฒนาพุทธศาสนาโดยไม่รู้ตัว 

       ศาสนาธรรม คือ การท่องบ่นสาธยาย การสั่งสอน อบรมตามคัมภีร์เท่าที่มีอยู่ก็ดี การปฏิบัติธรรมตามแบบเท่าที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาก็ดีจะหมดสิ้นไปด้วยพิธีกรรมเหล่านี้ เพราะพิธีกรรมต่างๆ ถ้ามีมากจนเกินขอบเขตจำเป็น ต้องใช้กำลังคนมาก กำลังเงินมาก มันก็จะยุ่งยากมาก เสียกำลังมาก หมดเงินมาก ผลที่จะได้รับการตอบแทนจากพิธีกรรมที่ทำนั้น สำรวจดูแล้วแต่ละงานมันไม่สมดุลกันเลย เช่น งานบวชนาค งานศพ งานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ บ้านเก่า ปีใหม่ ปีเก่า แต่ละงานจะต้องหมดเงินงานละมากๆ สาระเกี่ยวกับธรรมที่จะให้ผู้ที่มาในงาน รู้สึกว่าจะไม่ค่อยมีอะไรเลย อย่างดีก็เพียงให้ได้มีโอกาสเห็นหน้ากัน เป็นเกียรติแก่กันเป็นการขึ้นแรงกันไปในตัวเท่านั้น 
       ส่วนพระสงฆ์ที่ไปในงานก็ไม่ได้มีบทบาทอะไรที่จะเอาความดีเกี่ยวกับการยกระดับจิตใจของเขาให้สูงส่งขึ้นได้ นอกจากสวดมนต์ให้ศีล ฉันเช้า ฉันเพล ยถา ให้พรแล้วก็แล้วกันไป เมื่อพระกลับวัดแล้วก็มีการกินเลี้ยงกัน บางงานถึงกับจำญาติจำพี่น้องกันไม่ได้ จนบางครั้งต้องทำให้ถึงกับเลือดตกยางออกในงานมงคลก็มีอยู่มาก 

       งานอย่างนี้เราทำกันมานานแล้ว ยังไม่เห็นว่ามีอะไรดีขึ้นเลย ดังนั้นการที่ผู้นำศาสนามามัวเมาอยู่ในลาภสักการะที่จะพึงได้ มันจึงเป็นสาเหตุอีกข้อหนึ่งที่ทำให้พระศาสนาเสื่อมสูญได้ 

ประการที่ ๕ กิจการงานในพระพุทธศาสนา นับว่าเป็นกิจกรรมอันยิ่งใหญ่ ไม่ใช่เป็นกิจกรรมที่คนๆ เดียวจะทำกันได้ จึงจำเป็นต้องผนึกกำลังให้เกิดความสามัคคีพร้อมเพรียงร่วมกันทำงานแบ่งการรับผิดชอบในหน้าที่เท่าที่ตนมีความรู้ความเข้าใจ 

       ขอให้สังเกตดูผลงานแต่ครั้งอดีตที่ล่วงมาแล้วก็ได้ เช่น อย่างการทำสังคยานาแต่ละครั้ง ฝ่ายสงฆ์ก็จำเป็นต้องคัดเลือกพระเถระผู้ที่ชำนาญการเจ้ารับภาระในหน้าที่ๆ ตนชำนาญ อย่างจัดพระอุบาลีเป็นผู้วิสัชนาพระวินัยปิฎก และคัดเลือกพระอานนท์ผู้ชำนาญในพระสูตรและพระอภิธรรมเป็นผู้วิสัชนาพระสูตรและพระอภิธรรมเป็นต้น ส่วนพระมหากัสสปะก็รับภาระหน้าที่เป็นฝ่ายถาม สำหรับในด้านอาณาจักรก็ได้อาศัยพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นผู้ถวายการอุปถัมภ์ ในการนั้นจำเป็นต้องใช้การกสงฆ์ ๕๐๐ รูป จึงทำสำเร็จ 
       ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าต้องอาศัยความพร้อมเพรียงร่วมกันทำ แต่ถ้าสมัยใดในสังฆมณฑลเกิดความแตกร้าวชิงดีชิงเด่นกัน เอาเรื่องส่วนตัวเข้ามากดขี่ข่มเหง ใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงกันต่างฝ่ายต่างมุ่งร้ายเสวงหาโทษใส่ร้ายป้ายสีต่อกัน สมัยนั้นศาสนาก็ถึงความระส่ำระสายอลเวงล่มจมลงในที่สุด จึงนับว่าการแตกความสามัคคีในหมู่สงฆ์ เป็นอันตรายอย่างร้ายแรงอีกข้อหนึ่งเท่าที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ พูดเฉพาะเหตุที่ทำให้พระศาสนาเสื่อม เท่าที่มีมาในแต่สมัยพุทธกาลเท่านั้น ส่วนภัยที่กำลังเกิดแก่พระพุทธศาสนาในปัจจุบัน ยิ่งเป็นภัยที่น่าสะพรึงกลัวมากมายยิ่งกว่านั้นอีกหลายเท่าทีเดียว ซึ่งจะกล่าวเป็นลำดับไป ภัยที่จะนำมากล่าวในที่นี้ จะขอยกเอามาพูดไว้เพียง ๔ ข้อโดยย่อๆ เท่านั้น 
       รวมความแล้วเหตุการณ์แต่ละอย่าง ล้วนแล้วแต่เป็นการทำลายพระพุทธศาสนาให้เสื่อมสูญลงทั้งนั้น เมื่อจะประมวลเหตุการณ์ดูทั้งหมดแล้ว ก็รู้สึกว่าเป็นเหตุการณ์ที่น่าวิตกอยู่มากพอดูทีเดียว 
       เมื่อพวกเราชาวพุทธที่มีความเคารพสักการะต่อพระพุทธศาสนา ไม่ตื่นตัวผนึกกำลังช่วยกันในทุก ๆ ด้านแล้ว ก็เชื่อว่าพระพุทธศาสนาอันเป็นที่เคารพสักการะของพวกเรา จะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อีกไม่นานอย่างแน่นอนทีเดียว

Cr.http://oknation.nationtv.tv/blog/ra/2011/10/14/entry-1


3 August 2018

วัดนิคมสโมสร(บางคลี)