วิชาพุทธประวัติ ตอนที่ ๒

การศึกษาพุทธประวัติ คือการเรียนรู้ความเป็นไปของพระพุทธเจ้า ย่อมเป็นสิ่งสำคัญและมีประโยชน์มาก สำหรับพุทธศาสนิกชน

ปริเฉทที่  ๗  ส่งสาวกไปประกาศพระศาสนา
๑.  พระพุทธเจ้าได้แสดงธรรมชื่อ  อนุปุพพีกถา  ๕  ข้อ  คือ
     ๑.ทาน  คือการเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ (ทานกถา)
     ๒.ศีล  คือรักษากายวาจาให้เรียบร้อย (สีลกถา)
     ๓.สวรรค์  คือกามคุณที่บุคคลใคร่  ซึ่งจะได้ด้วยทานศีล (สัคคกถา)
     ๔.โทษของกามคุณ  คือกามคุณนั้นไม่เที่ยงประกอบด้วยความคับแค้น (กามาทีนวกถา)
     ๕.คุณของการบวช  คือเว้นจากกามคุณได้แล้วไม่มีความคับแค้น  (เนกขัมมานิสังสกกา)
และแสดงอริยสัจ ๔ โปรดลูกชายเศรษฐีคนหนึ่งชื่อ  ยส  ครั้งแรกยสได้เป็นโสดาบัน  ภายหลังได้ฟังอนุปุพพีกถา และอริยสัจนั้นซ้ำอีก จึงได้เป็นพระอรหันต์แล้วของบวช พระศาสดาตรัสพระวาจาว่า “ท่านจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว”  
๒.  บิดาพระยส  เป็นอุบาสก  มารดาและภรรยาเก่า  ของพระยสเป็นอุบาสิกา  ถึงรัตนตรัยคนแรกในโลก (เตฺวาจิกอุบาสก - อุบาสิกา)  และได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นพระโสดาบัน  เพราะได้ฟังอนุปุพพีกถาและอริยสัจเหมือนกัน  แล้วเลี้ยงพระกระยาหารอันประณีต  แด่พระศาสดาและพระยส  ก่อนกว่าใคร ๆ ในโลก
๓.  พระองค์ได้ทรงแสดงอนุปุพพีกถานั้น  โปรดสหายของพระยส ๔ คน คือ วิมล  สุพาหุ  ปุณณชิ  และควัมปติ  และสหายอื่นอีก  ๕๐  คน  จนได้เป็นโสดาบัน แล้วทั้งหมดบวชเป็นภิกษุ  และได้เป็นพระอรหันต์
๔.  รวมพระอรหันต์ในคราวนั้น  ๖๑  องค์รวมทั้งพระพุทธเจ้า ๆ ทรงส่งไปแสดงธรรมสอนประชาชนทั่วทุกทิศ
๕.  พระศาสดาเสด็จจากพาราณสี  จะไปตำบลอุรุเวลา  แวะพักที่ไร่ฝ้าย  ภัททวัคคีย์  ๓๐  คน เข้ามาทูลถามหาหญิง  พระองค์ย้อนถามว่า  ท่านจะแสวงหาหญิง  หรือว่าหาตนดีกว่า  ตอบว่าหาตนดีกว่า  พระองค์จึงให้พวกสหายนั้นนั่งลง  แล้วแสดงอนุปุพพีกถาและอริยสัจให้ฟัง  ภัททวัคคีย์  ได้ดวงตาเห็นธรรมแล้วขอบวช  พระองค์ประทานอุปสมบทให้  แล้วส่งไปประกาศศาสนา
๖.  พระองค์เสด็จไปถึงตำบลอุรุเวลา ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา  แสดงธรรมทรมานชฎิล (ฤาษี) ๓  ตนพี่น้อง  คือ
     ๑.อุรุเวลกัสสปะ    มีบริวาร    ๕๐๐  ตน
     ๒.นทีกัสสปะ    มีบริวาร    ๓๐๐  ตน
     ๓.คยากัสสปะ    มีบริวาร    ๒๐๐  ตน
เขาได้บวชเป็นภิกษุทั้งหมดพร้อมกับบริวาร  ภายหลังได้ฟังพระธรรมชื่อ  อาทิตตปริยายสูตร  ที่ตำบลคยาสีสะ  ใกล้แม้น้ำคยา
๗.  อาทิตตปริยายสูตรมีใจความเป็น ๓ ตอนคือ
     ๑.ทรงแสดงว่า  สิ่งทั้งปวงคือ อายตนะภายใน อายตนะภายนอก  วิญญาณ  ผัสสะ  เวทนา  เป็นของร้อน  ร้อนเพราะไฟ  คือราคะ  โทสะ  โมหะ ร้อนเพราะ  เกิด แก่ เจ็บ ตาย โศก คร่ำครวญ เจ็บกาย เสียใจ คับแค้นใจ
     ๒.ทรงสรุปผลของการปฏิบัติว่า  พระอริยสาวก  เมื่อลงความเห็นอย่างนี้  ย่อมเบื่อหน่ายในสิ่งทั้งปวงนั้น  เมื่อเบื่อหน่าย  ย่อมคลายกำหนัด  เพราะคลายกำหนัด  จิตจึงหลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่น  สิ้นชาติ  จบพรหมจรรย์  เสร็จกิจ
     ๓.ผลของการแสดงอาทิตตปริยายสูตร  ภิกษุชฎิล ๑,๐๐๓  องค์  สำเร็จพระอรหันต์

คุณสมบัติของผู้ที่พระพุทธองค์จะทรงแสดงอนุปุพพีกถาให้ฟัง
     ๑.ต้องเป็นมนุษย์
     ๒.ต้องเป็นคฤหัสถ์
     ๓.ต้องมีอุปนิสัยแก่กล้า สมควรที่จะได้เห็นธรรม

ปริเฉทที่  ๘
เสด็จไปกรุงราชคฤห์แคว้นมคธ  และได้อัครสาวก

๑.  พระองค์เสด็จไปกรุงราชคฤห์  ประทับ ณ ลัฏฐิวัน (สวนตาลหนุ่ม)  ทรงแสดงอนุปุพพีกถาและอริยสัจ ๔ โปรดพระเจ้าแผ่นดินมคธทรงพระนามว่า พิมพิสาร  พร้อมด้วยบริวาร  ๑๑ ส่วน ได้ดวงตาเห็นธรรม  อีก  ๑  ส่วน  ตั้งอยู่ในไตรสรณคมน์
๒.  ความปรารถนาของพระเจ้าพิมพิสารครั้งยังเป็นพระราชกุมาร  ๕  ข้อ คือ
     ๑.ขอให้ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินมคธ
     ๒.ขอให้พระอรหันต์  ผู้ตรัสรู้ชอบเองมายังแคว้นของข้าพเจ้า
     ๓.ขอให้ข้าพเจ้าได้นั่งใกล้พระอรหันต์
     ๔.ขอให้พระอรหันต์แสดงธรรมแก่ข้าพเจ้า
     ๕.ขอให้ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึงธรรมของพระอรหันต์
ความปรารถนาทั้ง  ๕  ข้อนี้  สำเร็จบริบูรณ์ในวันที่ได้ดวงตาเห็นธรรม
๓.  พระเจ้าพิมพิสาร  แสดงพระองค์เป็นอุบาสก  ทูลเชิญพระศาสดาและพระสงฆ์สาวกไปเสวยที่พระราชนิเวศน์ในวันรุ่งขึ้น แล้วถวายพระราชอุทยาน เวฬุวัน(สวนไผ่)  ให้เป็น อาราม (วัด)  แห่งแรกในพระพุทธศาสนา
๔.  มาณพสกุลพราหมณ์  ๒  สหาย  คือ
     ๑.อุปติสสะ  เพราะเป็นบุตรของนางสารี  จึงเรียกกันว่า  สารีบุตร
     ๒.โกลิตะ  เพราะเป็นบุตรนางโมคคัลลี  จึงเรียกกันว่า  โมคคัลลานะ
พร้อมด้วยบริวาร  ๒๕๐ บวชในสำนัก สัญชัยปริพาชก ไม่ได้ธรรมพิเศษ ภายหลังสารีบุตรเลื่อมใสในพระอัสสชิ  และได้ฟังธรรมจากพระอัสสชิ  พอเป็นแนวทางความว่า (หัวใจอริยสัจ) “ธรรมใดเกิดแต่เหตุ  พระศาสดา  ทรงแสดงเหตุแห่งธรรมนั้น  และความดับแห่งธรรมนั้น  พระศาสดาทรงสั่งสอนอย่างนี้”  ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม  แล้วสารีบุตรก็ได้แสดงธรรมนั้นแก่โมคคัลลานะ  โมคคัลลานะก็ได้ดวงตาเห็นธรรม  ปริพาชกทั้ง  ๒  สหาย  ก็ได้พาบริวารมาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา
๕.  พระโมคคัลลานะ  อุปสมบทแล้ว  ๗  วัน ไปทำความเพียรที่บ้านกัลลวามุตตคาม  แขวงมคธ  นั่งโงกง่วงอยู่  พระศาสดาทรงสอนอุบายแก้ง่วง  ๘  อย่างคือ
    ๑.ควรนึกถึงเรื่องที่จำ ๆ มาให้มาก
    ๒.ควรตรึกตรองถึงธรรมตามทีได้ศึกษามา
    ๓.ควรสาธยายธรรม
    ๔.ควรยอนหู
    ๕.ควรลุกขึ้น เอาน้ำลูบหน้าตาเหลียวดูทิศและดวงดาว
    ๖.ควรทำความสำคัญในแสงสว่าง
    ๗.ควรเดินจงกรมสำรวมอินทรีย์
    ๘.ควรนอนตะแคงขวา  มีสติสัมปชัญญะตั้งใจว่า  จะลุกขึ้น (นอนแบบสีหไสยาสน์)
และทรงสอนต่อไปว่า  ควรสำเหนียกว่า  เราจักไม่ชูงวง (ถือตัว) เข้าไปสู่สกุล  ๑  ไม่พูดคำเป็นเหตุเถียงกัน  ๑  เพราะจะเป็นเหตุให้ห่างจากสมาธิ  ทรงตำหนิการคลุกคลีด้วยหมู่ชน  ทรงสรรเสริญความคลุกคลีด้วยเสนาสนะอันสงัด  แล้วตรัส  ตัณหักขยธรรม  พระโมคคัลลานะก็สำเร็จพระอรหันต์
๖.  พระสารีบุตรอุปสมบทแล้ว  ๑๕  วัน  มีโอกาสถวายงานพัดเบื้องพระปฤษฎางค์ (หลัง)  แห่งพระศาสดา  ซึ่งกำลังทรงแสดงธรรมชื่อ  เวทนาปริคคหสูตร  แก่ฑีฆนขะปริพาชก  อัคคิเวสนโคตร  ที่ถ้ำสุกรขาตา  เขาคิชฌกูฏแขวงเมืองราชคฤห์  พลางดำริว่า  “พระศาสดาตรัสสอนให้ละการถือมั่นธรรมเหล่านั้น (ทิฏฐิ - กาย - เวทนา)  ด้วยปัญญาอันยิ่ง”  ก็สำเร็จพระอรหันต์  ส่วนฑีฆนขะปริพาชก  ได้ดวงตาเห็นธรรม
๗.  พระสารีบุตรได้เป็นอัครสาวกฝ่ายขวา  เลิศทางปัญญา  ส่วนพระโมคคัลลานะ  ได้เป็นอัครสาวกฝ่ายซ้าย  เลิศทางมีฤทธิ์
๘.  พระศาสดา  ได้ทรงเลือกเอามคธชนบทเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธศาสนาเป็นแห่งแรก  ก็สำเร็จสมพระประสงค์อย่างรวดเร็ว เพราะเป็นเมืองที่มั่งคั่งและมีศาสดาเจ้าลัทธิมาก  มีศิษยานุศิษย์มาก  ชนเหล่านั้นได้ความเชื่อเลื่อมใส  ปฏิบัติตามพระวินัยมากขึ้น  โดยลำดับ

มัชฌิมโพธิกาล
ปริเฉทที่  ๙
ทรงบำเพ็ญพุทธกิจในมคธชนบท

๑.  คราวหนึ่ง  พระศาสดาประทับใต้ร่มไม้ไทร  ชื่อพหุปุตตนิโครธ  ในระหว่างกรุงราชคฤห์และเมืองนาลันทาต่อกัน  ทรงรับ ปิปผลิมาณพ  กัสสปโคตร  ผู้ถือเพศบรรพชิตบวชอุทิศพระอรหันต์ในโลก  ให้เข้าเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา  ด้วยประทานโอวาท  ๓  ข้อคือ
     ๑.กัสสปะ  เธอพึงศึกษาว่า  เราจักเข้าไปตั้งความละอายและความเกรงไว้ในภิกษุทั้งที่เป็นผู้เฒ่า  ทั้งที่เป็นผู้ใหม่  ทั้งที่เป็นปานกลาง  อย่างแรงกล้า 
     ๒.เราจักฟังธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง  ซึ่งประกอบด้วยกุศล  เราจักเงี่ยหูฟังธรรมนั้น  พิจารณาเนื้อความ
     ๓.เราจักไม่ละ กายคตาสติ  สติที่ไปในกาย  คือพิจารณากายเป็นอารมณ์
๒. พระมหากัสสปะ(ปิปผลิ)  ได้เป็นภิกษุด้วยพระโอวาท  ๓  ข้อนี้  จัดเข้าในพวก เอหิภิกขุอุปสัมปทา  นับจากอุปสมบทมาได้  ๘  วัน  ก็ได้สำเร็จพระอรหันต์  ภายหลังได้รับยกย่องจากพระศาสดาว่า  เป็นเลิศทางธุดงค์(ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร  อยู่ป่าเป็นวัตร  บิณฑบาตเป็นวัตร)  และได้เป็น ประธานสงฆ์ในคราวปฐมสังคายนา
๓.  พระศาสดาประทับอยู่ ณ เวฬุวนาราม  ถึงวันเพ็ญเดือน  ๓  ได้มีการประชุมใหญ่ที่เรียกว่า  จาตุรงคสันนิบาต  แปลว่า  การประชุมมีองค์  ๔  คือ
     ๑.พระที่มาประชุมเป็นพระอรหันต์ ๑,๒๕๐  องค์
     ๒.พระเหล่านั้นเป็นเอหิภิกขุ
     ๓.พระเหล่านั้นมากันเองโดยมิได้นัดหมายกัน
     ๔.พระศาสดาทรงประทาน พระโอวาทปาฏิโมกข์  ในที่ประชุมนั้น  ใจความแห่งพระโอวาทปาฏิโมกข์นั้น  มี  ๓  อย่างคือ
          การไม่ทำบาปทั้งปวง
          การทำกุศลให้ถึงพร้อม
          การทำจิตให้ผ่องใส
     ทั้ง  ๓  อย่างนี้  จัดเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา
๔.  ทรงอนุญาตให้ภิกษุอยู่ในเสนาสนะได้  ๕  ชนิดคือ
     ๑.วิหาร  ได้แก่กุฏิมีหลังคา  มีปีก  ๒  ข้าง  อย่างปกติ
     ๒.อัฑฒโยค  ได้แก่กุฏิที่มุงซีกเดียว (เพิง)
     ๓.ปราสาท  ได้แก่  กุฏิหลายชั้น
     ๔.หัมมิยะ  ได้แก่  กุฏิหลังคาตัด
     ๕.คูหา  ได้แก่  กุฏิแห่งภูเขา(ถ้ำ)
๕.  ราชคหกเศรษฐี  ได้สร้างวิหาร (กุฏิ)  ๖๐  หลัง  อุทิศถวายสงฆ์  พระพุทธองค์ทรงอนุโมทนาว่า  การสร้างวิหารถวายสงฆ์อันมาแต่จตุรทิศ(ทิศทั้ง ๔ )  คือ
     ๑.วิหารนั้นย่อมกำจัดเย็นกำจัดร้อน สัตว์ร้าย  และลมแดดเสียได้
     ๒.วิหารเหมาะแก่การอยู่สำราญ  เพื่อบำเพ็ญสมถวิปัสสนา
     ๓.ภิกษุผู้คงแก่เรียนอยู่อาศัยในวิหารอันมีเครื่องใช้บริบูรณ์ย่อมจะแสดงธรรมเป็นเครื่องบรรเทาทุกข์  แก่ผู้ถวายวิหารเป็นต้นนั้น  ที่เขารู้ธรรมแล้วจักสิ้นอาสวะเย็นใจ
๖.  บุรพบิดร  ๓  ชั้น  คือ บิดา  ปู่ ทวด  เป็นอันจะพึงเซ่นด้วยก้อนข้าวเรียก  สปิณฑะ แปลว่า ผู้ร่วมก้อนข้าว  บุรพบิดรพ้นจากทวดขึ้นไปก็ดี  ญาติผู้มิได้สืบสายโดยตรงก็ดี  เป็นผู้อันจะพึงได้รับน้ำกรวด  เรียก  สมาโนทก  แปลว่า ผู้ร่วมน้ำ
๗.  ทรงอนุญาตให้ทำ  ปุพพเปตพลี  คือทำบุญอุทิศให้เปตชนคือผู้ตาย โดยเป็นกิจอันผู้ครองเรือนจะพึงทำประการหนึ่ง  (เช่นที่เราเรียกกันว่าทำบุญ  ๗  วัน  ๕๐  วัน  ๑๐๐  วัน  หรือครบรอบปีจากวันตาย   ทำบุญวันสารท - ตรุษ - สงกรานต์)  โดยอนุโลมธรรมเนียมเซ่นหรือทักษิณานุปทานอุทิศบุรพบิดรของพราหมณ์  ที่เรียกว่า  ศราทธะ  แต่ขยายให้กว้างกว่าของพราหมณ์  คืออุทิศให้ทั้งแก่  สปิณฑะ  ทั้งแก่สมาโนทก  และไทยทานก็ให้บริจาคในสงฆ์  แทนที่จะเอาไปวางไว้ให้สัตว์เช่นกาเป็นต้นกิน
๘.  คำว่าเปตชนหมายความได้  ๒  นัย  คือ
     ๑.หมายเอาคนตายทั่วไปได้ในคำว่า เปโต กาลกโต
     ๒.หมายเอาบุรพบิดร  ได้ในคำว่า  ปุพพเปตพลี
๙.  เปตชนผู้ไปเกิดในกำเนิดอื่นทั้งสุคติและทุคติ  ย่อมเป็นอยู่ด้วยอาหารในคติที่เขาเกิด  ไม่ได้รับผลทานที่ทายกอุทิศให้  ต่อไปเกิดใน ปิตติวิสยะ  แดนแห่งเปรต  อทิสสมานกาย  จึงจะได้รับ
๑๐.  เปตชนจะได้รับผลทานก็ต้องพร้อมด้วยองค์  ๓  คือ
     ๑.ทายกบริจาคทานแล้วอุทิศถึง
     ๒.ปฏิคาหกผู้รับทานเป็นทักขิเณยยะ  ผู้ควรรับทาน
     ๓.เปตชนนั้นได้อนุโมทนา
๑๑.  ทักษิณาอุทิศเฉพาะบุรพบิดรเรียกว่า  ปุพพเปตพลี  ทักษิณาอุทิศคนตายทั่วไปเรียกว่า  ทักษิณานุปทาน  แปลว่า  การตามเพิ่มให้ทักษิณาบ้าง เรียกว่า  มตกทาน  แปลว่า  ทานอุทิศผู้ตายบ้าง
๑๒.  ผลของปุพพเปตพลี  หรือทักษิณานุปทาน  หรือมตกทานนั้นมีมาก  โดยใจความมี  ๔  คือ
     ๑.ประโยชน์สุขสำเร็จแก่เปตชนโดยฐานะอันควรสิ้นกาลนาน
     ๒.ทายก (ผู้ให้ ผู้ทำ)  ได้แสดงญาติธรรม
     ๓.ทายก (ผู้ให้ ผู้ทำ)  ได้บูชายกย่องเปตชนอย่างโอฬาร
     ๔.ทายก (ผู้ให้ ผู้ทำ)  ได้เพิ่มกำลังให้แก่ภิกษุ
เป็นอันว่าได้บุญไม่น้อยเลย
๑๓.  การทำปุพพเปตพลีเป็นต้น  ย่อมบำรุงความรักใคร่นับถือในบุรพบิดรของตน  ให้เจริญกุศลส่วนกตัญญูกตเวทิตา  เป็นทางมาแห่งความเจริญรุ่งเรืองของสกุลวงศ์
๑๔.  ทรงมอบให้สงฆ์เป็นใหญ่ในกิจกรรมนั้น ๆ  มีอุปสมบทกรรม  เป็นต้น  คือได้โปรดตั้งพระสารีบุตรให้เป็นอุปัชฌาย์  รับราธพราหมณ์  เข้าบวชเป็นภิกษุ  ด้วยวิธี  ญัตติจตุตตถกรรมอุปสัมปทาเป็นครั้งแรก  ในพระพุทธศาสนา
๑๕.  ทรงแสดงวิธีไหว้ทิศทั้ง  ๖  โดยใจความว่า  ผู้จะไหว้ทิศต้องเว้นกิจเหล่านี้  คือ
     ๑.เว้นกรรมเศร้าหมอง ๔ อย่าง
     ๒.เว้นอคติ ๔  อย่าง
     ๓.เว้นอบายมุข  ๔  อย่าง หรือ  ๖  อย่าง
แล้วจึงไหว้ทิศทั้ง  ๖  คือ
     ๑.ปุรัตถิมทิศ ๆ เบื้องหน้า  คือมารดาบิดา
     ๒.ทักขิณทิศ  ๆ เบื้องขวา  คืออุปัชฌาย์อาจารย์
     ๓.ปัจฉิมทิศ  ๆ เบื้องหลัง  คือบุตร ภรรยา
     ๔.อุตตรทิศ   ๆ เบื้องซ้าย  คือมิตร
     ๕.เหฏฐิมทิศ  ๆ เบื้องล่าง  คือบ่าว และลูกจ้าง
     ๖.อุปริมทิศ   ๆ เบื้องบน   คือสมณพราหมณ์
๑๖.  ทรงอนุญาตให้ชาวพุทธทำ เทวตาพลี  คือทำบุญอุทิศให้เทวดา โดยเปลี่ยนวิธีทำให้สำเร็จประโยชน์ดีกว่าวิธีของพราหมณ์  คือพวกพราหมณ์ใช้วิธีตั้งเครื่องสังเวยให้เหมาะแก่เทวดานั้น ๆ เช่น
     ๑.เทวดาใจดี  ก็สังเวยด้วยข้าว ขนม นมเนย  และผลไม้
     ๒.เทวดาใจร้าย  ก็สังเวยด้วยเนื้อ เลือด ตลอดถึงชีวิตของคนหรือสัตว์
การสังเวยเทวดาใจดี  ก็เพื่อ ให้เกิดความเอ็นดูให้ช่วยคอยพิทักษ์รักษา
การสังเวยเทวดาใจร้าย  ก็เพื่อมิให้คิดร้ายหรือทำร้ายให้เดือดร้อน  และเมื่อจะสังเวยก็เอาเครื่องสังเวยไปวางในที่นั้น ๆ ตามที่เทวดานั้น ๆ สถิตอยู่  เช่น
     ๑.สังเวยพระธรณี  วางที่พื้นดินหรือต้นไม้ที่กลายมาเป็นสังเวยรุกขเทวดา
     ๒.สังเวยพระคงคา  วางในน้ำ  กลายมาเป็นพิธีลอยกบาล หรือเสียกบาล
     ๓.สังเวยพระเพลิง  วางในกองไฟ  เรียกว่าบูชาเพลิง
     ๔.สังเวยพระอินทร์  วางบนศาลเพียงตา
     ๕.สังเวยพระยม  วางในป่าช้า
     ๖.สังเวยเทวดาอื่น ๆ ก็ทำไปแล้วแต่ความเหมาะสม
๑๗.  พระศาสดาเสด็จถึงบ้าน  ปาฏลีคาม  ทรงรับนิมนต์เสวยภัตตาหารใน  เมืองใหม่(เมืองปาฏลีบุตร) อันสุนิธพราหมณ์  และวัสสการพราหมณ์  กำลังสร้าง แล้วทรงแสดงพิธีทำเทวตาพลี  โดยใจความว่าผู้ฉลาดอยู่ในสถานที่ใด ๆ ควรนิมนต์พรหมจารีผู้มีศีลสำรวมดีให้ฉันในที่นั้น ๆ เมื่อให้ท่านฉันแล้ว  พึงอุทิศส่วนกุศลให้แก่เทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่นั้น และพระองค์ทรงแสดงผลของเทวตาพลีไว้ว่า เทวดาทั้งหลายอันเขาบูชาแล้ว  ย่อมบูชาตอบ เทวดาทั้งหลายอันเขานับถือแล้ว  ย่อมนับถือตอบ จำเดิมแต่นั้นไป  เทวดานั้น  ก็ย่อมอนุเคราะห์ผู้บูชานับถือนั้นด้วยจิตเมตตา  ดุจมารดากับบุตร  ฉะนั้น ผู้ที่เทวดาอนุเคราะห์คือรักษานั้น  ย่อมประสบแต่ความเจริญเสมอ
๑๘.  ประตูที่พระศาสดาเสด็จออกจากเมืองปาฏลิบุตรชื่อ โคตมทวาร  ท่าแม่น้ำคงคาที่เสด็จข้ามชื่อ  โคตมติตถะ
๑๙.  พระศาสดาตรัสชมเมืองปาฏลิบุตรว่า  สร้างดีได้จังหวะมีระเบียบเรียบร้อย  ทรงพยากรณ์ว่าจักเป็นยอดนคร  เป็นที่ประชุมสินค้า  แต่จักมีอันตราย  ๓  ประการคือ เพลิงไหม้ น้ำท่วม แตกกันเอง

ปริเฉทที่  ๑๐ 
เสด็จสักกชนบท

๑.  สักกชนบท  แบ่งเป็น ๔ นคร คือ
     นครกบิลพัสดุ์  เป็นที่อยู่ของ (กปิลวตฺถวา  สกฺกา)  พวกศากยะผู้อยู่ในเมืองกบิลพัสดุ์
     นครวิธัญญา  เป็นที่อยู่ของ (เวธญฺญา  สกฺกา)  พวกศากยะผู้อยู่ในเมืองวิธัญญา
     นครโคธาฬี  เป็นที่อยู่ของ (โคธาฬิยา  สกฺกา)  พวกศากยะผู้อยู่ในเมืองโคธาฬี
     นครโกฬิยะ  เป็นที่อยู่ของ (รามคามกา  สกฺกา)  พวกศากยะผู้อยู่ในเมืองรามคาม (นครโกฬิยะ  นี้  บางแห่งเรียกว่า  เมืองรามคาม)
๒.  พระศาสดาเสด็จพระนครกบิลพัสดุ์โปรดพระพุทธบิดา  มีเรื่องเล่าว่า  พระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบว่า  พระสิทธัตถะได้เป็นพระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว  ได้สั่งสอนธรรมแก่ประชาชนโดยลำดับมา  บัดนี้  ประทับอยู่ ณ กรุงราชคฤห์  จึงตรัสสั่งให้อำมาตย์หลายคนไปนิมนต์  แต่พวกอำมาตย์ที่ทรงใช้ไปนั้น  ไปแล้วก็เงียบหายไม่ได้เชิญเสด็จพระศาสดามาตามที่ทรงรับสั่ง เพราะมัวไปฟังธรรมเพลินจนบรรลุพระอรหันต์  ครั้งสุดท้ายได้ใช้ให้กาฬุทายีอำมาตย์  ไปนิมนต์  กาฬุทายีอำมาตย์พร้อมด้วยบริวารก็ไปฟังธรรมจนบรรลุอรหันต์  แล้วบวชเป็นเอหิภิกขุ  คอยอยู่จนสิ้นฤดูหนาว  ย่างเข้าฤดูฝน  ก็ได้ทูลเชิญพระศาสดา  พระศาสดาพร้อมด้วยหมู่สงฆ์ได้เสด็จจากกรุงราชคฤห์  เดินทางได้วันละ  ๑  โยชน์  ร่วม  ๒  เดือน จึงถึงกรุงกบิลพัสดุ์  ประทับที่  นิโครธาราม   ได้ทรงแสดงอิทธิปาฏิหารย์   ทรมานเหล่าศากยะ   ผู้สูงอายุ   ซึ่งมีมานะไม่ยอมอภิวาท   พระเจ้าสุทโธทนะได้ถวายอภิวาทก่อน(เป็นการกราบครั้งที่  ๓)  ศากยะนอกนั้นก็ได้ทำตามหมด
๓.  เหล่าศากยวงศ์  มาประชุมกันรับเสด็จพระศาสดา  เป็นมหาสันนิบาติ  เรียกว่า  ญาติสมาคม  ต่างก็มีความชื่นบาน  บังเกิดอภินิหาร  ฝนโบกขรพรรษ  ตกลงมา  พระศาสดาทรงแสดง  เวสสันดรชาดก  โปรด
๔.  ในวันรุ่งขึ้น  พระศาสดาเสด็จเที่ยวภิกขาจาร  ชาวบ้านพากันแตกตื่น  เพราะเห็นกษัตริย์เที่ยวขอทาน พระเจ้าสุทโธทนะ  ไปเชิญให้เสด็จกลับ  พระศาสดาตรัสบอกว่า  การเที่ยวบิณฑบาทนี้  เป็นกิจวัตรของสมณะ  และได้ทรงแสดงพระคาถา  มีความว่า  “ไม่พึงประมาทในบิณฑบาต  พึงประพฤติธรรมให้สุจริต  ผู้ประพฤติธรรมอยู่เป็นสุข  ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า”  พระเจ้าสุทโธทนะทรงสดับพระคาถานี้แล้ว  ได้บรรลุโสดาบัน
๕.  พุทธกิจอื่น ๆ ที่ทรงกระทำขณะที่ประทับอยู่ที่นิโครธาราม  กรุงกบิลพัสดุ์
     โปรดพระนางปชาบดีโคตมี โดยให้อุปสมบทเป็นนางภิกษุณีด้วยครุธรรม ๘  ประการ (องค์แรกในโลก)
     อุปสมบทให้เจ้าชายนันทะ
     บรรพชาราหุลเป็นสามเณรองค์แรกในโลก

ปริเฉทที่  ๑๑
เสด็จโกศลชนบท

๑.  โกศลชนบท  ตั้งอยู่ในมัธยมชนบท  ภาคเหนือแห่งชมพูทวีป  มีกรุงสาวัตถีเป็นนครหลวง  
๒.  ในกรุงสาวัตถีมีเศรษฐีผู้หนึ่งชื่อสุทัตตะ  เกี่ยวข้องกับราชคหกเศรษฐี  โดยที่ได้ภคินีมาเป็นภรรยา  วันหนึ่งได้ไปธุระที่บ้านของราชหกเศรษฐี  เห็นราชคหกเศรษฐีจัดเตรียมอาหารมากมายเพื่อถวายพระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขในวันรุ่งขึ้น  ก็เกิดความเลื่อมใส  รุ่งขึ้นก่อนรับประทานอาหารได้รีบไปเฝ้าพระศาสดา ณ สีตวัน  ได้ฟังอนุปุพพีกถา  และอริยสัจ  ได้ธรรมจักษุ  คือบรรลุโสดาบัน  ประกาศตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต  ตั้งแต่นั้นมาก็ได้บริจาคทรัพย์มาหาศาลให้เป็นประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาตลอดถึงคนจนอนาถาทั่วไป  จึงได้เนมิตตนามใหม่ว่า  อนาถปิณฑิกเศรษฐี  และเศรษฐีได้ซื้อสวนมะม่วงของนายเชต  ถวายเป็นวัดในพระพุทธศาสนาชื่อว่าวัดเชตวัน

วัดสำคัญในพระพุทธศาสนามี  ๔  วัดคือ
     ๑.วัดเวฬุวัน  พระเจ้าพิมพิสารเป็นคนสร้างถวาย
     ๒.วัดนิโครธาราม  พระบิดาและพระประยูรญาติสร้างถวาย
     ๓.วัดเชตวัน  อนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างถวาย
    ๔.วัดบุบผาราม  นางวิสาขา มหาอุบาสิกาสร้างถวาย


26 July 2018

วัดนิคมสโมสร(บางคลี)