วันแม่ - วันลูก
วันที่ ๑๒ สิงหาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จัดให้เป็นวันแม่แห่งชาติ โดยริเริ่มเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๙
โดยคณะกรรมการอำนวยการสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จนถึงปัจจุบัน สัญลักษณ์ที่ใช้ในวันแม่คือ ดอกมะลิ ซึ่งมีสีขาวบริสุทธิ์ ส่งกลิ่นหอมไป
ไกลและหอมได้นาน อีกทั้งยังออกดอกได้ตลอดทั้งปี เปรียบได้กับความรักอันบริสุทธิ์ของแม่ที่มีต่อลูกไม่มีวันเสื่อมคลาย
สำหรับความเป็นมาของวันแม่แห่งชาติในประเทศไทยนั้น งานวันแม่จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ ณ.สวนอัมพร โดยกระทรวงสาธารณสุข แต่ช่วงนั้นเกิด
สงครามโลกครั้งที่ ๒ งานวันแม่ในปีต่อมาจึงต้องงดไป เมื่อวิกฤติสงครามสงบลง หลายหน่วยงานได้พยายามให้มีวันแม่ขึ้นมาอีก แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร และมีการ
เปลี่ยนกำหนดวันแม่ไปหลายครั้ง ต่อมาวันแม่ที่รัฐบาลรับรอง คือวันที่ ๑๕ เมษายน โดยเริ่มจัดตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ แต่ก็ต้องหยุดลงอีกในหลายปีต่อมา เนื่องจากกระทรวง
วัฒนธรรมถูกยุบไป ส่งผลให้สภาวัฒนธรรมแห่งชาติซึ่งรับหน้าที่จัดงานวันแม่ขาดผู้สนับสนุน จนกระทั่งต่อมาสมาคมครูคาทอลิกแห่งประเทศไทย ได้จัดงานวันแม่ขึ้นอีกครั้ง ในวันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ แต่จัดได้เพียงปีเดียวเท่านั้น จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ คณะกรรมการอำนวยการสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้กำหนดวันแม่ขึ้นใหม่ให้เป็นวันที่แน่นอน โดยถือเอาวันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ วันที่ ๑๒ สิงหาคมเป็นวันแม่แห่งชาติ และกำหนดให้ดอกไม้สัญลักษณ์ของวันแม่ คือ ดอกมะลิ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
และเนื่องในวันแม่แห่งชาติ กิจกรรมต่าง ๆ ที่ควรปฏิบัติ เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความสำคัญของวันนี้ ได้แก่ พสกนิกรในหน่วยงานทุกภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ พร้อม
ใจกับบำเพ็ญกุศลต่าง ๆ ทั้งในศาสนา หรือสาธารณกุศล เป็นต้น รวมไปถึงร่วมจุดเทียนชัย ถวายพระพรแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ การตกแต่งประดับไฟ
เฉลิมพระเกียรติและประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน การจัดให้มีกิจกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับวันแม่ เช่น จัดนิทรรศการ เพื่อระลึกถึงพระคุณแม่ หาโอกาสไปกราบขอพรจากคุณแม่
ที่ท่านยังมีชีวิต หรือทำบุญอุทิศไปให้เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว
ในพระพุทธศาสนานั้นคุณธรรมของแม่มีหลายประการ เช่น เป็นผู้มีเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขาพร้อม จึงเรียกแม่ว่าเป็น ‘พรหม’ ของบุตรธิดา ชื่อว่าเป็นพรหมก็เพราะมี
คุณธรรมของพรหมประจำใจ อีกประการหนึ่ง แม่คือเทวดาและร่มโพธิ์ร่มไทรของลูก เพราะให้ความคุ้มครองให้ความรักษา ท่านกล่าวว่าบ้านเรือนใดมีการเคารพมารดา บิดา บูชา
มารดาบิดา บ้านเรือนนั้นมีเทวดาคุ้มครองรักษา เทวดาก็คือความงามความดีนั่นเอง เทวดาก็คือคุณธรรม ความรักพ่อรักแม่นั่นแหละคือสิ่งคุ้มครองครอบครัว เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร
ให้บุตรธิดาในครอบครัวนั้นอยู่เย็นเป็นสุข เพราะฉะนั้นผู้เคารพมารดา บิดา จึงชื่อว่ามีโพธิ์ไทรใบดกคุ้มครองรักษา ไม่ถูกฝน ไม่ถูกแดด ไม่ถูกความทุกข์ความเดือดร้อนครอบงำ
จิตใจ มีความเป็นอยู่อย่างปลอดภัย น้ำใจของแม่ก็เหมือนกับแม่น้ำ เหมือนกับแผ่นดิน เหมือนกับแผ่นฟ้า เหมือนกับสิ่งที่ให้แต่ความสุขความสำเร็จในชีวิตแก่เรา
ความเคารพมารดาบิดานั้นเป็นรากฐานของชีวิต ของศีลธรรม ความก้าวหน้าความมั่นคงในครอบครัว ซึ่งก็อยู่ที่สมาชิกของครอบครัวเหล่านั้น เป็นผู้เคารพมารดาบิดา บูชา
มารดาบิดา พ่อ-แม่ เป็นพระในบ้าน ลูก ๆ จึงรักเคารพบูชาท่าน สำหรับบิดามารดานั้นประดุจเป็นพระอรหันต์ของลูก ที่ควรแก่การเคารพบูชา ต้องมีความรักและความกตัญญู
กตเวทิตาต่อท่าน เหล่านี้จะนำมาซึ่งความสุขความเจริญในชีวิตของลูกทุก ๆ คน
“ปีหนึ่งมีวันแม่วันเดียว อีก ๓๖๔ วันเป็นวันลูก” เสียงรำพึงเหล่านี้อาจไม่ได้เป็นเรื่องจริงจังอะไรนัก แต่ก็สื่อให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของแม่ลูกในสังคมปัจจุบันได้ไม่น้อยทีเดียว
ตามธรรมชาติแล้วแม่และลูกมีความสัมพันธ์ กันอย่างลึกซึ้งตั้งแต่ลูกถือกำเนิดขึ้นมาในครรภ์ ของแม่ สารอาหารที่ผ่านมาทางเลือดของแม่ค่อย ๆ เสริมสร้างส่วนต่าง ๆ ใน
ร่างกายลูก จนกระทั่งเวลาผ่านไป ๒ สัปดาห์ปากน้อยๆ ของลูกก็เกิดขึ้น ๓ สัปดาห์ลูกเริ่มมีตา ปลายสัปดาห์ที่ ๓ หัวใจเริ่มเต้น ในสัปดาห์ที่ ๘ ลูกมีอวัยวะทุกอย่างครบถ้วน
สัปดาห์ที่ ๔๐ นัยน์ตามสีเฉพาะตามเชื้อชาติ ร่างกายสมบูรณ์เต็มที่พร้อมจะออกมาดูโลก เมื่อลูกคลอดออกมาแล้ว แม่ก็มีหน้าที่ ที่ต้องทำเพื่อลูกมากมาย ที่สำคัญที่สุด คือ
เลี้ยงดูและอบรมสั่งสอนด้วยความรักอย่างเต็มที่ เต็มกำลังของท่าน จนลูกเติบใหญ่โดยไม่มีค่าจ้างหรือสัญญาตอบแทนใด ๆ เรียกได้ว่า ในฐานะที่เป็นลูก เราได้รับสิทธิมาก
มายมหาศาลจากแม่ แต่มนุษย์เราเกิดมาไม่ได้มี "สิทธิ" เพียงอย่างเดียว แต่ยังมี "หน้าที่" ตามมาด้วยเป็นของคู่กัน และหน้าที่ระหว่างแม่ลูกนั้น ไม่ใช่ว่าทุกคนจะทำได้ดีเสมอไป
บางคนเมื่อเป็นลูกอาจจะเป็นลูกที่ดี แต่เมื่อมาเป็นแม่ อาจจะไม่ใช่แม่ที่ดีก็ได้ เพราะการเลี้ยงลูกให้ดีไม่ใช่เรื่องง่าย ถึงแม้ว่าโดยปกติแล้วแม่ทั่วโลกต่างก็รักลูกและอยากเลี้ยง
ลูกให้ดีก็ตาม แต่..ความรักอย่างเดียวคงยังไม่พอ ความพร้อมในด้านต่างๆ ของแม่ก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมาย ที่แตกต่างกันไปตามสภาพ
สังคม ประเพณี วัฒนธรรม ฯลฯ สิ่งเหล่านี้มีส่วนกำหนดให้แม่แต่ละคนทำหน้าที่ ได้แตกต่างกันดังตัวอย่างของแม่ชาวจีนใน ๒ ยุค ที่ต่างก็มีความรักลูกเช่นกัน แต่การเลี้ยงลูก
กลับต่างกันราวดินกับฟ้า
ในอดีต ประชากรจีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คุณภาพชีวิตของประชาชนทั่วไปต่ำกว่ามาตรฐานมาก ปัญหาต่างๆ รุมเร้า ทำให้แม่ไม่มีความพร้อมที่จะดูแลลูก ๆ ได้อย่างทั่วถึง ลูก
จึงขาดแคลนทั้งเรื่องอาหารการกิน การศึกษา การอบรมสั่งสอน การดูแลด้านสุขอนามัย ฯลฯ ต่อมาในค.ศ. ๑๙๗๙ รัฐบาลจีนมีนโยบายให้แต่ละครอบครัวมีลูกคนเดียว เพื่อ
ควบคุมจำนวนประชากร ภาพเด็กจีนผู้หิวโหยเข้าแถวรอการปันส่วนอาหารจึงหมดไป
ปัจจุบันพ่อแม่ชาวจีนจำนวนมหาศาลต่างก็มีลูกกันเพียงคนเดียว เป็นครอบครัวแบบ ๔-๒-๑ (ปู่ย่า ตายาย ๔ คน พ่อแม่ ๒ คน ลูก ๑ คน) ทุกคนในบ้านต่างทุ่มเททุกอย่าง
เพื่อปรนเปรอ "หนึ่งเดียวคนนี้" โดยปู่ย่า ตายาย และพ่อแม่ ต่างทำ "หน้าที่" ของตนอย่างเต็มกำลัง จนกระทั่งเด็กเหล่านี้ ได้ชื่อว่า จักรพรรดิน้อย (The Little Emperors)
แต่..ในยุคที่จักรพรรดิน้อยกำลังรุ่งเรืองนี้ ตำนานลูกกตัญญูก็ถึงกาลอวสานลงไปพร้อม ๆ กัน
แล้วอะไรคือแนวทางในการทำหน้าที่ของแม่อย่างเหมาะสม ? เรื่องนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกล่าวถึงหน้าที่ของแม่ รวมทั้งหน้าที่ของลูกไว้ในสิงคาลกสูตร เรื่อง ทิศ ๖ ซึ่ง
หลักการนี้สามารถ นำไปใช้ได้กับคนในทุกสังคม พระองค์ตรัสไว้ว่า แม่มีหน้าที่อนุเคราะห์ลูก ๕ ประการ คือ ห้ามลูกไม่ให้ทำชั่ว ให้ทำความดี ให้การศึกษาแก่ลูก หา
สามี-ภรรยาที่สมควรให้ และมอบทรัพย์สินให้ลูกในเวลาอันควร ส่วนลูกก็มีหน้าที่ ๕ ประการเช่นกัน คือ เลี้ยงดูแม่เป็นการตอบแทน ช่วยทำการงานของท่าน ดำรงวงศ์ตระกูล
ประพฤติตนให้สมควรที่จะได้รับมรดก ทำบุญอุทิศให้ท่านเมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว
ถ้าทั้งแม่และลูกต่างก็มีความชัดเจนว่าตนเองมีหน้าที่อะไร และทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุดโดยอาศัยทุนเดิม คือ ความรัก ความเมตตาที่มีต่อกันเป็นพื้นฐาน บวกกับความเข้าใจ
ว่า แม่ หรือลูกของเรา ก็คือ มนุษย์ธรรมดาที่ยังมีกิเลส และยังมีปัญหาต่างๆในชีวิตอีกมากมาย อาจจะทำสิ่งที่ ผิดพลาด หรือสิ่งที่ไม่ถูกใจเราบ้างในบางครั้ง แต่ถ้าเรามองอีก
ฝ่ายหนึ่งด้วยความเมตตาและเข้าใจ เราก็จะสามารถรักษาความสัมพันธ์อันงดงามที่มีต่อกันไว้ได้ตลอดไป
ไม่น่าเชื่อว่า วันเวลาที่ได้มาเป็นแม่ลูกกัน ช่างผ่านไปรวดเร็วนัก ดวงตะวันสาดแสงสดใสได้ไม่นานก็ต้องลับขอบฟ้าเสมือนชีวิตของแม่ที่กำลังนับถอยหลังลงทุกวัน.. ใช้เวลา
ด้วยกันบ้าง.. ให้หลาย ๆ วันเป็นวันของแม่และลูก เพราะวันแม่ครั้งต่อไป มาลัยดอกมะลิพวงงามของลูกอาจไม่ถึงมือแม่ก็ได้ !!
6 August 2018