อยู่อย่างไรให้ใจเป็นสุข

คำว่าโรค ถ้าจะแบ่งแยกให้เห็นเด่นชัดก็จะมีอยู่ ๒ ชนิด คือโรคทางกาย กับโรคทางใจ

อยู่อย่างไรให้ใจเป็นสุข

     คำว่าโรค  ถ้าจะแบ่งแยกให้เห็นเด่นชัดก็จะมีอยู่  ๒  ชนิด  คือโรคทางกาย  กับโรคทางใจ  ผู้ที่มีทุกข์มีปัญหาทางกาย  ก็เพราะถูกโรคภัยเบียดเบียน  ผู้ที่มีทุกข์มีปัญหาทางใจ  ก็เพราะถูกกิเลสเบียดเบียน    หากท่านทั้งหลายศึกษาหาทางยับยั้งป้องกันสรรพกิเลสน้อยใหญ่มิให้มีโอกาสแสดงบทบาทหรือประกาศอิทธิพลได้แล้ว  ท่านก็จะพ้นจากสภาพ  อยู่ร้อนนอนทุกข์  หันมา  อยู่สุขเย็นใจ  เมื่อนั้น

     เป็นที่น่าสังเกตว่าโรคที่บั่นทอนพลานามัยและเป็นภัยต่อต่อสังคมอยู่ขณะนี้มี  ๓  โรค  เรียกว่า  โรค  ๓  อ.  คือ  โรคอด  ไม่มีจะกินจะใช้  โรคเอดส์  เพราะสำส่อน  โรคอิจ  คือโรคอิจฉาตาร้อน  ตาลุก  เป็นอาการไม่ปกติทางจิตชนิดหนึ่ง  คืออิจฉาริษยา  ใครดี ใครเด่น  ใครดังเกินหน้าแล้วทนไม่ไหวทำใจไม่ได้  กลายเป็นคนเจ้าทุกข์  จ้องหาจังหวะที่จะทำลายผู้อื่นให้พินาศด้วยอุบายวิธีต่าง ๆ ดังพระบาลีว่า  อะระติ  โลกะนาสิกา  ความริษยายังโลกให้พินาศ  นี่แหละที่เรียกว่าโรคอิจฉาตาร้อน

     จุดประสงค์ของการบรรยายเรื่อง “อยู่อย่างไรให้ใจเป็นสุข” ก็คืออยากจะให้คุณโยมทั้งหลายมีความร่มเย็นเป็นสุขใจกันทุกท่าน  หากว่าคุณโยมทั้งหลายยินดีพลีหัวใจให้ศีลธรรมทางศาสนาได้มีโอกาสได้เข้าไปเยียวยาบ้าง  ชีวิตก็จะเป็นชีวิตที่สมบูรณ์แบบ  อย่าให้เป็นดังคำโบราณที่ท่านว่า  มีเกลือแต่ปล่อยให้เนื้อเน่า  เหมือนมียาวิเศษ  คือธรรมะ  แต่กลับปล่อยให้โรคร้ายคือกิเลสรุมกัดรุมเกาะ  ก็ไม่ต่างอะไรกับยาที่อยู่ในตู้แต่โรคอยู่ในตัว  ซึ่งช่วยอะไรกันไม่ได้

     บัณฑิตแต่โบราณท่านกล่าวไว้น่าคิดตอนหนึ่งว่า  มีลูกไว้พึ่งพา  มีศาสนาไว้พึ่งใจ  ทั้งนี้ก็เพื่อจะให้ชีวิตมีที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยว  ศีลธรรมทางศาสนานั่นแหละคือยอดของยา  หรืออาหารใจ  ท่านทั้งหลายอย่ามัวเพลินแต่แสวงหาอาหารบำรุงบำเรอกาย  จนลืมเติมอาหารบำรุงใจ  มิฉะนั้นจะกลายเป็นว่า  อิ่มเพียงท้องแต่พร่องทางใจ  ตรงกันข้ามกับผู้ใด  ฉีดวัคซีนทางศาสนาเข้าสู่จิตใจได้มากเท่าไร  ชีวิตก็จะมีแต่ความผ่องแผ้วบริสุทธิ์  เหมือนกับปุ๋ยที่ช่วยบำรุงชีวิตให้งอกงาม  ช่วยบันดาลให้  เป็นอะไรก็ดี  มีอะไรก็สวย  แม้เมื่อม้วยก็เป็นสุข  ดังบทกลอนที่ว่า

     อยู่เรือนพังยังดีไม่มีทุกข์     
ดีกว่าคุกตะรางที่กว้างใหญ่
จนยังดีมีศีลธรรมประจำใจ     
มีหวังได้สุขาไม่ราคี
     อันเงาร่มชายเรือนเหมือนสวรรค์    
 ต้องเสกสรรให้บริสุทธิ์ศรี
จึงจะอยู่สุขทุกทิวาและราตรี     
ก็ต้องมีศีลธรรมนำพาไป

     ความสุข  เป็นยอดปรารถนาของชีวิต  ทุกคนจึงดิ้นรนไขว่คว้า  บางรายต้องการเงิน  บางรายต้องการเกียรติ  บางท่านต้องการคำชม  บางคนนิยมให้คนเอาอกเอาใจ  หรือไม่ก็ต้องการไปจากเสียสิ่งที่ไม่ต้องการ  ความสุขนั้น  เมื่อจะสรุปแล้วก็จะได้  ๒  ประการ  คือ  สุขกายกับสุขใจ  ตามทัศนะของโลกถือว่าใจขึ้นอยู่กับกาย  ถ้าร่างกายดี  ใจก็สดชื่น  ปัญหาจึงมีอยู่ว่า  แล้วความสุขอยู่ที่ไหน  การแสวงหาความสุขโดยธรรมนั้น  พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนและรับรองมติทางโลกไว้เหมือนกัน  ดังที่ท่านได้ตรัสเรื่องของความสุขของฆราวาสไว้ด้วยหลักธรรม  ๔  ประการ  คือ

๑. สุขเกิดจากการมีทรัพย์ (ขยันหา รักษาดี มีกัลยาณมิตร ใช้ชีวิตพอเพียง)
๒. สุขเกิดจาการใช้ทรัพย์ (เลี้ยงครอบครัว, เพื่อน, ภัย, ทำพลี ๕, ทำบุญ)
๓. สุขเกิดจากการไม่เป็นหนี้
๔. สุขเกิดจากการประกอบการงานที่ปราศจากโทษ (มิจฉาวนิชชา ๕)

     นี่จะเห็นได้ว่า  ทรงตรัสรับรองอำนาจของทรัพย์ไว้  แต่จะต้องเป็นทรัพย์ที่จ่ายเพื่ออำนวยความสะดวกสบาย  ไม่ใช่มีแล้วก็เอาแต่นอนเฝ้านั่งเฝ้า  เป็นทาสของทรัพย์เหมือนปู่โสม อย่างนี้ถึงจะเป็นความสุข ก็สุขแบบลม ๆ แล้ง ๆ  เท่านั้น  เหมือนกับบทกลอนที่ว่า  

     มีสตางค์เราไม่ใช้ก็ไร้ค่า
มีภรรยาอยู่ไกลได้แต่ฝัน
มีญาติมิตรไม่ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อกัน
อย่ามีมันเสียดีกว่าสบายใจ

เพราะฉะนั้นพระพุทธองค์จึงตรัสบอกถึงสุขที่เกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์ไว้ด้วย

     อนึ่ง  คนที่มีทรัพย์แล้วแต่ไม่ยอมใช้ทรัพย์ให้เป็นประโยชน์  เขาเรียกว่าคนโกงตัวเอง  ใช้ตัวเองเที่ยวเสาะแสวงหาและสะสมเอาไว้  แล้วก็ปล่อยให้ตัวอด ๆ อยาก ๆ แร้นแค้น เอาแต่กลัวจะหมดจะเปลือง  คนอย่างนี้น่าสงสาร  ฉะนั้นความสุขจะเกิดขึ้นได้  ก็ต้องใช้ทรัพย์ที่มีอยู่ตามสมควรแก่โอกาส
     
     สุขอีกย่างหนึ่งคือการไม่เป็นหนี้  คนเป็นหนี้ต้องอยู่เป็นทุกข์  จิตใจถูกกระตุก  ถูกทักถูกทวงอยู่เรื่อย  ต้องกังวลอยู่ตลอดเวลา  อีกย่างหนึ่ง  สุขอันเกิดจากงานที่ปราศจากโทษ  เป็นความสุขที่สนิทใจ  เงินที่หาได้ด้วยงานที่สุจริต  เป็นเงินที่บริสุทธิ์เป็นทางแห่งความสุขอีกทางหนึ่ง  ซึ่งไม่ได้กล่าวว่า  ผลจากงานทุกอย่างจะเป็นทางให้สุขเสมอไป  แต่ตรัสว่า  เป็นสุขเฉพาะผลงานที่สุจริตเท่านั้น  ส่วนผลงานที่ได้จากความทุจริตไม่รับรองว่าเป็นทางแห่งความสุข  แต่เป็นทางแห่งความทุกข์
     
     ผลงานที่ได้จากทางมิจฉาชีพ  เมื่อนำมาบำรุงชีวิตแล้วจะมีผลเช่นเดียวกับอาหารที่สกปรก  มีเชื้อโรค  แม้ขณะบริโภคจะเอร็ดอร่อยเพียงใด  แต่สุดท้ายปลายเหตุ  ก็ท้องเสีย  เพลียแรงฉันใด  ผลงานจากความทุจริตผิดศีลธรรม  ถือว่าเป็นที่โสโครกสกปรก  นำมาบำรุงตน  เลือดเนื้อที่เกิดจากการบำรุงด้วยผลงานที่ทุจริต  ก็เจริญเยี่ยงเดียวกับภูตผีปีศาจ  ฉะนั้น  จะเห็นได้ว่า  ความสุขอันอิงทรัพย์นั้น  ต้องมีข้อแม้ว่า  ต้องเป็นทรัพย์ที่บริสุทธิ์  อันได้มาจากงานที่ปราศจากโทษด้วย
     
     ทางแห่งความสุขอีกประการหนึ่ง  ซึ่งเป็นเรื่องเก่า  อาจจะฟังดูเชย ๆ ไปหน่อย  ถ้าถามว่าความสุขอยู่ที่ไหน  อาตมาจะขอตอบว่าความสุขอยู่ที่บุญ  ดังพุทธภาษิตที่ว่า  มา  ปุญญานัง  ภายิตถะ  สุขัสเสตัง  อะธิวะจะนัง  แปลว่า  ท่านทั้งหลายอย่ากลัวบุญกันเลย  เพราะคำว่าบุญ  เป็นชื่อของความสุข  ข้อนี้ชัดมาก  บอกว่าบุญกับความสุขเป็นเรื่องเดียวกัน  การหาความสุขก็ต้องหาที่บุญ  อีกแห่งหนึ่งได้ยินกันจนชินหูว่า  สุโข  ปุญญัสสะ  อุจจะโย  แปลว่า  การสั่งสมบุญ  นำมาซึ่งความสุข  ข้อนี้ก็ชัดเจนอยู่แล้วไม่ต้องอธิบาย  ว่าบุญมีส่วนแห่งชีวิตอย่างไร  โบราณท่านกล่าวไว้ว่า  ยามบุญมาวาสนาช่วย  ที่ป่วยก็หายที่หน่ายก็รัก  ยามบุญไม่มา  วาสนาก็ไม่ช่วย  ที่ป่วยก็หนัก  ที่รักก็หน่าย  ปัญหามันมีอยู่ว่า  ทุกวันนี้  คนส่วนใหญ่รู้จักบุญในแง่ที่ทำให้สิ้นเปลือง  พูดถึงการทำบุญแล้ว  ก็ต้องนึกถึงเรื่องเงิน  จนอาจจะทำให้ไม่เห็นด้วยกับภาษิตที่ว่าบุญเป็นชื่อของความสุข  มันน่าจะเป็นชื่อของความทุกข์มากกว่า  การที่ทุกวันนี้  ญาติโยมพากันกลัวบุญ  ก็เพราะว่ามีการบิดเบือนความหมายของบุญ  โดยเน้นเรื่องบุญเฉพาะเรื่องให้ทานอย่างเดียว  ถึงกับเกิดสำนวนไทยขึ้นประโยคหนึ่งว่า  ทำบุญให้ทาน  และทำให้ฟังดูกลายเป็นว่า  บุญนี้เหมาเอาเฉพาะคนที่มีเงินมาก ๆ   เท่านั้น คนไม่ค่อยจะมีเงินก็เลยพากันกลัวบุญไปหมด  แท้ที่จริงแล้ว  บุญนั้นมันมีอยู่สองตอนด้วยกัน  คือโดยเหตุ  กับโดยผล  โดยผลก็คือ  ทำให้ใจร่าเริงเบิกบาน แจ่มใส  เป็นสุข  ปลอดโปร่ง  อันเป็นสำนึกที่ได้มาจากการได้ทำความดี  คือบุญ  โดยเหตุก็มีอยู่หลายอย่างด้วยกัน  มิใช่เฉพาะต้องให้ทานเท่านั้น  บุญยังเกิดได้อีกหลายทางเช่น  การรักษาศีล  เจริญภาวนา  ขวนขวายช่วยเหลืองานที่เป็นประโยชน์ของเพื่อน  การนอบน้อมคารวะสิ่งที่ควรคารวะ  การพลอยยินดีกับกิจที่ดีของผู้อื่นเป็นต้น  แต่ละเรื่องมุ่งให้เกิดผลที่จิตใจ  คือสภาพจิตที่ดี  แจ่มใส  สะอาด  บริสุทธิ์   รวมความว่า  บุญเป็นเครื่องชำระใจ  ใจที่ถูกชำระอย่างถูกวิธี  ก็สะอาดผ่องใส  เป็นสาเหตุสำคัญที่จะบันดาลให้ชีวิตพบกับความสุข  ถ้าเราจะระดมปลูกฝังสร้างความเข้าใจแก่ปวงชนดังนี้เสมอ ๆ แล้ว  คนกลัวบุญก็จะไม่มี  แล้วจะทำบุญได้เสมอหน้ากัน  ไม่ว่าจะรวยหรือจะจน

     ต่อคำถามที่ว่าความสุขอยูที่ไหนนั้น  อาตมาก็ขอตอบว่าความสุขอยู่ที่ความสงบ  ดังพุทธภาษิตที่ว่า  นัตถิ  สันติ  ปะรัง  สุขัง  แปลว่าความสงบเป็นยอดของความสุข  ปัญหาจึงมีต่อไปว่า  สงบจากอะไรจึงจะเป็นสุข  อาตมาก็ขอตอบว่าต้องสงบจาก  ๔  ขั้นนี้ถึงจะเป็นสุขคือ  ขั้นที่  ๑  ต้องสงบจน  ขั้นที่  ๒  ต้องสงบใจ  ขั้นที่  ๓  ต้องสงบเวรภัย  ขั้นที่  ๔  ต้องสงบกิเลส
    
     ประการที่  ๑  สงบจน  ขึ้นชื่อว่าจนแล้วไม่มีใครปรารถนา  เพราะความจนทำให้เป็นทุกข์  ชีวิตขาดความสุข  ไม่ว่าจะจนทรัพย์  จนปัญญา  ล้วนทำให้ขัดสน  พ่ายแพ้  หมดหวัง  หนทางตัน  ดังบัณฑิตท่านกล่าวไว้ว่า  จนทรัพย์ไม่มีเงินใช้  จนตรอกไม่มีทางไป  จนใจไม่มีทางคิด  จนแต้มไม่มีทางเดิน  จนมุมไม่มีทางหนี  ในทางพระพุทธศาสนา  มีพระบาลีบทหนึ่งรองรับไว้ว่า  ทะลิททิยัง  ทุกขัง  โลเก  ความจนเป็นทุกข์ในโลก  โดยเฉพาะจนทรัพย์ต้องดิ้นรนแสวงหา  ไม่มีก็ต้อหา  ไม่มาก็ต้องไป  แม้จะกู้หนี้ยืมสินก็จำยอม  ว่าถึงความจนแล้วมิใช่แต่เฉพาะความจนเท่านั้นที่เป็นทุกข์  แม้เศรษฐีผู้มีอันจะกินก็ทุกข์เหมือนกัน  คนจน  เป็นทุกข์เพราะไม่มีจะกิน  แต่คนรวยเป็นทุกข์เพราะไม่มีที่จะเก็บ  มันต่างกันตรงนี้  ในเรื่องจนนี้น่าคิด  บางคนจนเพราะไม่มี  อันนี้น่าเห็นใจ  แต่บางคนจนเพราะไม่พอ  บางท่านจนเพราะไม่เจียม  อันนี้น่าเวทนาสงสาร  เพราะฉะนั้นเราต้องภาวนาอยู่เสมอเป็นคติเตือนใจเอาไว้คือ  ทุกข์แล้วต้องทน  จนแล้วต้องเจียม  ต้องรู้จักพอดี  พอเหมาะ  พอควร  แล้วจะพอกินพอใช้  สูตรสำเร็จ  หรือเหตุที่จะทำให้ตั้งเนื้อตั้งตัวได้นั้น  ต้องตั้งมั่นในธรรม  ๔  ประการ  คือ  ๑  ซื่อสัตย์สุจริต  ๒  เป็นนิตย์ขยัน  ๓  ประหยัดให้มั่น  ๔  หันหลังทางอบาย  หรือจำง่าย ๆ ว่า  อยากสบายให้ขวนขวายทำดี  อยากเป็นเศรษฐีให้รู้จักประหยัด

     ประการที่  ๒  สงบใจ  ในตัวของเรานี้ธรรมชาติแบ่งเป็นสองส่วนคือ  กายกับใจ  ท่านกล่าวไว้ว่า  ใจเป็นนายกายเป็นบ่าว เพราะฉะนั้นจะดีจะชั่ว  จะมัวจะหมองหรือผ่องใสก็เพราะใจนำพา  ใจที่ฟุ้งซ่านไม่สงบก็เพราะมีกิเลสมากระทบ  ทะเลไม่สงบก็เพราะมีคลื่น  ถ้าคลื่นธรรมดาก็ไม่เป็นไร  แต่ถ้าคลื่นใหญ่ก็ทำให้เรืออับปางได้

     วิธีที่จะทำให้ใจสงบท่านสอนให้ปฏิบัติกัมมัฏฐาน  ทั้งสมถกัมมัฏฐาน  และวิปัสสนากัมมัฏฐาน  เรียกกว่า  กัมมัฏฐานบันดาลสุข
     
     ๑. สมถกัมมัฏฐาน  อุบายยังใจให้สงบ  สำหรับระวับนิวรณ์  มีกามฉันทะ  ความหมกมุ่นในกาม  พยาบาท  ความคิดปองร้าย  ถีนมิทธะ  ความเคลิบเคลิ้มหดหู่แห่งจิต  อุทธัจจะกุกกุจจะ  อาการที่จิตฟุ้งซ่านหวั่นไหว  วิจิกิจฉา  ความลังเลสงสัยตกลงใจไม่ได้

     ๒. วิปัสสนากัมมัฏฐาน  อุบายยังปัญญาให้สว่าง  เกิดการรู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งทั้งปวงที่เป็นจริงด้วยปัญญา  การเห็นแจ้งในแง่ของการเกิดทุกข์และการดับทุกข์  เป็นชั้นที่สูงกว่าสมถะ  ทำให้รู้เท่าทันในไตรลักษณ์  คืออนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา  โดยมีสติควบคุมป้องกันมิให้มัวเมา  หลงเข้าไปยึดมั่น  ท่านกล่าวว่า  ถ้าสติมาปัญญาก็เกิด  ถ้าสติเตลิดจะเกิดปัญหา  ถึงความรู้ดี  ถ้าไม่มีสติคุมก็อาจถลำหลุมอบาย  ประพฤติเสียหายได้  เพราะเหตุนี้สติจึงจำเป็นต่อการดำเนินชีวิต และการทำงานทุกเรื่อง  ต้องมีสติทุกขณะตลอดเวลา  สติ  สัพพัตถะ  ปัตถิยา  สติจำปรารถนาในที่ทั้งปวง  สติ  เตสัง  นิวาระณัง  สติป้องกันสรรพภัย  ทุกอย่างได้

     ประการที่ ๓. สงบเวรภัย  ทุกวันนี้  ตามสื่อต่าง ๆ  ข่าวที่น่าชื่นใจหาได้ยาก  ส่วนมากมีแต่ข่าวประเภทประหัตประหารซึ่งกันและกัน ก่อเวรสร้างกรรมกันไม่เว้นแต่ละวัน  เป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจมาก   ต้นตอของเวรกรรมที่ทำให้สังคมมนุษย์ไม่สงบสุขในปัจจุบันนี้  มีเหตุใหญ่ ๆ  อยู่  ๔  เรื่องด้วยกันคือ  ๑.  แย่งที่กันหากิน  ๒.  แย่งถิ่นกันอยู่  ๓.  แย่งคู่กันสวาท  ๔.  แย่งอำนาจกันเป็นใหญ่  ที่บ้านเมืองวุ่นวาย  ไม่ว่าที่ ใด ๆ ในโลกนี้  ก็เพราะเหตุทั้ง  ๔  นี้  หากจะแก้  ต้องแก้ด้วยคุณธรรม  ด้วยความเข้าใจ  ด้วยความเห็นใจ  เห็นโทษภัยจากการกระทำนั้น ๆ ทุกท่านจะต้องเห็นแก่ประเทศชาติ  มากกว่าที่จะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน  หรือหมู่คณะของตนเป็นที่ตั้ง  ควรหันหน้าเข้าหากัน  สมานสามัคคีกัน  รักกันเหมือนพี่  ดีกันเหมือนน้อง  ปรองดองกันเหมือนญาติ  ควรทำตัวให้เหมือนน้ำที่มุ่งสมานสามัคคีกลมเกลียวกัน  น้ำมันสอนคุณธรรมเราอยู่ทุกวัน  แต่คนมักไม่คิดถึงไม่เห็นความศักดิ์สิทธิ์ของน้ำ  น้ำนั้นใครจะเอาไม้ไปกรีด  เอามีดเข้าไปฟัน  เอาขวานเข้าไปผ่า  พอยกมีดยกไม้ขึ้นมา  หารอยแตกแยกไม่เจอ  มันสอนวิชาสามัคคีหรือวิชาปรับตัวแก่เราสอนให้รู้รักสามัคคี  ให้มีไมตรีต่อกัน 

     เพราะฉะนั้น  ท่านทั้งหลาย  เมื่อท่านต้องการความสุขต้องไม่สร้างทุกข์ให้แก่ใคร  โดยถือปฏิบัติตามคติธรรมที่ว่า  อัพยาปัชชัง  สุขัง  โลเก  การไม่เบียดเบียนกันเป็นสุขในโลก  หมั่นเตือนตนไว้เสมอ  ไม่พึงมุ่งหวังเอาชนะกันและกันในทางมิชอบ  พึงยึดหลักไว้เสมอว่า  อย่าพูดให้ใครช้ำ  อย่าทำให้เคือง  ปัญหาทุกอย่างในบ้านเมืองล้วนแก้ไขได้    หากมุ่งหวังที่จะเป็นประชาธิปไตย  จงลดอัตตาธิปไตยลง  แต่จงถือธรรมาธิปไตย  คือความถูกต้องเป็นแนวทาง  มิเช่นนั้นจะก่อให้เกิดปัญหาขึ้น  

     ประการที่ ๔. สงบกิเลส  คำว่ากิเลส  แปลว่าเหตุแห่งความชั่ว  หรือความมัวหมอง  กิเลสกระกูล ใหญ่ ๆ ที่มีอิทธิพลต่อจิตใจมากที่สุด  มีอยู่  ๓  ตระกูล  คือโลภะ  มีอกุศลจิตคิดอยากได้ในทางมิชอบ  โทสะ  ความเป็นผู้มีอารมณ์ฉุนเฉียวเกรี้ยวกราด  โมหะ  ความเขลาไม่รู้เท่าทันด้วยอำนาจอวิชชาพาให้หลงผิด  ทำให้  เห็นกงจักรเป็นดอกบัวเห็นชั่วเป็นดี  กิเลสเหล่านี้มีในผู้ใด  ทำให้ผู้นั้นหมดเสน่ห์  พึงหาทางขจัดและแก้ไขเสียด้วยทาน  การเสียสละ  ด้วยเมตตา  ปรารถนาให้เกิดสุข  ด้วยปัญญา  ยังให้ถึงซึ่งความพ้นทุกข์  ดังบัณฑิต  ท่านประพันธ์เป็นบทกลอนไว้ว่า

     มีปัญญาพาตนให้พ้นผิด
รู้จักคิดเหตุผลพ้นกังขา
ทำอะไรเหมาะเจาะเพราะปัญญา
ช่วยรักษาตัวตนให้พ้นภัย

    
     ทุกคนต่างปรารถนาให้โลกและสังคมร่มเย็นเป็นสุข  เพราะฉะนั้น  จงช่วยกันเสกสร้างทางสงบให้เกิดขึ้นให้ได้  นับตั้งแต่สงบจน  ทั้ง  ๓  ระดับ  คือ  จนเพราะไม่มี  แก้ด้วยทำให้มีด้วยการซื่อสัตย์สุจริต  เป็นนิตย์ขยัน  ประหยัดให้มั่น  หันหลังทางอบาย  หรืออยากสบายให้ขวนขวายทำดี  อยากเป็นเศรษฐีให้รู้จักประหยัด  จนเพราะไม่พอ  แก้ใจมิให้รั่ว  จนเพราะไม่เจียม  แก้ด้วยการรู้จักใช้รู้จักประหยัด  อยากรวยต้องประหยัด  อยากอัตคัดให้สุรุ่ยสุร่าย  เมื่อสามารถระงับดับปัญหาความจนดังกล่าวได้แล้ว  พึงขวนขวายสร้างความดีให้ยิ่งขึ้นไป  ดังคติสอนใจที่ว่า  เกิดเป็นคนอย่าจนความดี เกิดมาทั้งทีควรสร้างดีให้ติดตน  สงบใจ  แก้ด้วยปฏิบัติสมถะและวิปัสสนา  สงบเวรภัย  แก้ด้วยไม่เบียดเบียนกัน  ทั้งทางกาย  ทางวาจา  และทางใจ  หาดผิดพลาดพลั้งไปรู้จักอโหสิกรรม  ยกโทษให้หรืออภัยกันดังบทประพันธ์ที่ว่า

     หากไม่มีการให้อภัยผิด
และไม่คิดที่จะลืมซึ่งความหลัง
ก็หาสามัคคียากลำบากจัง
เพราะความพลั้งย่อมมีทั่วทุกตัวคน

สงบกิเลส  แก้ด้วยการค้นหาเหตุของกิเลสนั้น  ๆ  แล้วนำหลักธรรมะดังที่ได้แสดงมาตั้งแต่ต้น  นำไปปฏิบัติขัดเกลาจิต

หลักปฏิบัติหรือทางที่จะทำให้ใจเกิดสุขนั้น  มี  ๔ วิธีดังนี้

     ๑. รู้จักพอ  พอเหมาะ  พอควร  พอดี  มีสันโดษ  ไม่โลภเกินขอบเขต  พอใจตามมี  ยินดีตามได้  ไม่เป็นทุกข์
     ๒. รู้จักให้  เสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม  รู้จักให้ไม่ตระหนี่  กำจัดมัจฉริยะ และความเห็นแก่ตัว
     ๓. รู้จักปล่อยวาง  สละ  ละ  วาง  วางลงปลงตก  จิตจะรู้สึกอิสระเบาบาง  ปลอดโปร่ง
     ๔. เห็นทุกอย่างเป็นธรรมดา  สุข  ทุกข์  ได้  เสีย  สมหวัง  ผิดหวัง  ดีใจ  เสียใจ  ล้วนธรรมดาทั้งนั้น  เพราะ  สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา  สิ่งนั้นทั้งปวงย่อมมีความดับเป็นธรรมดา  ไม่มีอะไรนอกเหนือไปจากธรรมดา  เกิดก็ธรรมดา  แก่ก็ธรรมดา  เจ็บก็ธรรมดา  ตายก็ธรรมดา  ผู้ใดเข้าหลักธรรมดาได้  ผู้นั้น  ชื่อว่า  ได้ดวงตาเห็นธรรม  มีภูมิธรรมก้าวเข้าสู่กระแสพระนิพพาน

     ฉะนั้น เมื่อเราจะพูด จะคิด  อะไรก็ตาม  พึงรักษาจิตให้ดี  ทำหน้าที่ให้ถูกต้อง  มีสติอย่าให้พร่อง  แล้วความเศร้าหมองจะหมดไป สมนัยที่นักปราชญ์ ท่านได้ประพันธ์ไว้เป็นเครื่องเตือนใจว่า

     ถึงยามได้ได้ให้ดีไม่มีทุกข์
ถึงยามเป็นเป็นให้ถูกตามวิถี
ถึงคราวตายตายให้เป็นเห็นสุขดี
ได้อย่างนี้มีแต่สุขทุกเวลา


4 August 2018

วัดนิคมสโมสร(บางคลี)